หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุธา ทองบุตร
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การประยุกต์ใช้หลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : สุธา ทองบุตร ข้อมูลวันที่ : ๑๓/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังวราภิรักษ์
  ประสพฤกษ์ รัตนยงค์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

 

              วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์ในคัมภีร์พุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาในสังคมไทย (๓) เพื่อการประยุกต์ใช้หลักทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในสังคมไทย ผลการวิจัยพบว่า

   ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หมายถึงธรรมที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์อันพึงได้รับจากการประกอบอาชีพที่สุจริตถูกต้องทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม ได้ทรัพย์มาซึ่งสิ่งที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ให้ผลทันตาเห็นไม่ต้องรอถึงชาติหน้าอัน                จะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ (๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นเลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน (๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม (๓) กัลยาณมิตตตา คบคนดีไม่คบคนชั่ว (๔) สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียงรู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์

              จากการศึกษาสภาพปัญหาในสังคมไทยพบว่า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีความเจริญด้านวัตถุมากขึ้นแต่สภาพจิตใจขาดธรรมะมีความสุขน้อยลง เกิดปัญหาการเสื่อมทรามทาง             ด้านศีลธรรม ปัญหาอาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย ปัญหาปล้น จี้ ฉกชิงวิ่งราว ปัญหายาเสพติด ปัญหาการหลงใหลวัฒนธรรมต่างประเทศ ปัญหาค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวเพิ่มขึ้น รายได้น้อยไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเหล่านี้ เป็นต้น ส่งผลให้สังคมไทยจากที่เคยสงบสุข สังคมแห่งการพึ่งพากัน เอื้ออาทรต่อกัน กลายมาเป็นสังคมที่ผู้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น อยู่แบบตัวใครตัวมันไม่สนใจกัน แข่งขันกันทำมาหากินแข่งกับเวลา

             การประยุกต์หลักทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมไทยเริ่มจากการปัญหาความยากจน ต้องมีความขยันหมั่นเพียร (อุฎฐานสัมปทา) ในการประกอบสัมมาอาชีพ หลีกหนีความเกียจคร้าน ไม่ติดอบายมุข ทำงานด้วยความมานะ อดทน รู้จักการวางแผนการใช้เงิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดเงิน การแก้ปัญหาอาชญากรรม ต้องมีการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ (อารักขสัมปทา) รู้จักใช้จ่าย อดออมเงินที่หามาได้ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่ติดอบายมุข เล่นการพนันจะได้ไม่ก่ออาชญากรรม แก้ปัญหา               ยาเสพติด ต้องมีการเลือกคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตา) หลีกหนีการมีมิตรชั่วที่จะนำพา ชักจูงไปติดยาเสพติด จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะเด็กและเยาวชนถูกชักจูงในทางที่ผิดได้ง่าย ปัญหาค่านิยมฟุ้งเฟ้อ หรูหรา การใช้จ่ายเกินฐานะ แก้ไขได้ด้วยการนำหลักการเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ        (สมชีวิตา) ไม่ใช้สินค้าราคาแพง ไม่ให้ความสำคัญกับเงินมากกว่าคุณค่าในตัวคน ไม่ยกย่องผู้มีอำนาจ  มีเงินจนลืมผิดชอบชั่วดี ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมตามความพอดีตามหลักสมชีวิตา รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทรัพย์ก็จะอำนวยความสุขให้ ดังที่พุทธเจ้าทรงสอนเรื่องสุขของคฤหัสถ์ ๔ ประการคือ สุขเพราะมีทรัพย์ เพราะใช้ทรัพย์ เพราะไม่มีหนี้ และสุขเพราะการงานสุจริต พระองค์สอนให้รู้จักอดออม ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่ใช้เกินฐานะของตัวเอง ไม่เป็นคนมีหนี้สินรุงรัง ตนเองไม่ได้รับความเดือดร้อน ครอบครัวก็ไม่เดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕