บทคัดย่อ
ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ พบว่าพฤติกรรมของบุคคลที่มีความโลภ เกิดการกระตุ้นเร้าจากความโลภที่เป็นกิเลสภายในจิตใจ โดยที่ความโลภ เป็นรากเหง้าของอกุศลที่ทำให้พฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งแสดงออกในทางทุจริตคือไม่พอใจในทรัพย์สินของตนเอง อันเป็นการละเมิดศีลธรรม จริยธรรมพฤติกรรมดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นลักษณะของกิเลสประเภทความโลภได้ชัดเจน ภายใต้วัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาความโลภในแนวคิดจริยศาสตร์ประโยชน์นิยม (๒) เพื่อศึกษาความโลภในพุทธจริยศาสตร์เถรวาท (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความโลภในพุทธจริยศาสตร์ เถรวาท การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร
จากการศึกษาพบว่า ความโลภในสังคมปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่ ความโลภเชิงวัตถุ เป็นอาการของจิตที่อยากได้สิ่งที่เป็นวัตถุกาม ความโลภทางสังคม เป็นสภาพที่บุคคลมีความต้องการเป็นคนมีชื่อเสียงทางสังคมมากขึ้น ถึงกับต้องแสวงหามาในทางที่ผิดศีลธรรมด้วยการติดสินบนถึงกับต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่ต้องการ
ความโลภในพุทธจริยศาสตร์เถรวาท ความหมายของความโลภ คือ ความอยากได้ มักมาก ความต้องการ หรือสภาวะที่ทำให้จิตละโมบอยากได้ ในคัมภีร์พระไตรปิฎก และอรรถาฎีกา มีข้อความว่า ความโลภ มีลักษณะเพ่งเล็งโน้มน้าววัตถุสิ่งของผู้อื่นเข้ามาหาตน เพราะความโลภอยากได้ บุคคลจึงประพฤติผิดศีลธรรม ความโลภ(โกรธ หลง) ทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นรากเหง้าของอกุศลมูล มี ๓ ระดับ คือ อย่างละเอียด อย่างกลาง และอย่างหยาบ สาเหตุภายใน คือ อวิชชาความไม่รู้และโมหะความหลง และมีสาเหตุภายนอก คือ สิ่งที่ดึงดูด ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะที่มากระทบ
วิเคราะห์ในทัศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท ความโลภสามารถเกิดขึ้นได้กับปุถุชนทุกเพศทุกวัยซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ปัญหาที่เกิดจากความโลภนี้ สามารถแก้ไขและป้องกันได้โดยการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาทมาปรับประยุกต์เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามความเหมาะสมกับสภาพปัญหาแต่ละกรณี โดยการใช้ คำสอนต่างๆ ไม่ว่า จะเป็น ทาน ศีล ภาวนา การปลูกฝังจริยธรรม และคุณธรรม
ดาวน์โหลด |