บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพกึ่งปริมาณ มีวัตถุประสงค์ ๒ ข้อ ๑) เพื่อศึกษามุมมอง และพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลังเข้าร่วมกิจกรรมเชิงพุทธที่เน้นธรรมะเรื่องหลักกรรมและชีวิตหลังความตายของผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ๒) เพื่อผลการพัฒนาชีวิตตามหลักภาวนา ๔ ของผู้สูญเสียที่ผ่านกิจกรรมเยียวยาเชิงพุทธหลังจากผ่านกิจกรรมแล้ว ๑๐ เดือนขึ้นไป
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบบันทึก (Record Form) แบบสังเกต (Observation) แบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) แนวทางการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยการใช้แบบสัมภาษณ์ที่ออกแบบมาและตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้วิจัยได้ทำการสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านกิจกรรมเยียวยาเชิงพุทธของพระปณต คุณวฑฺโฒ จำนวน ๑5 คน ส่วนสถิติที่ใช้ประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิง มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่อย่างน้อยสวดมนต์ นั่งสมาธิ สัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง มีการปฏิบัติกรรมฐาน ปีละ 1-2 ครั้ง และส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อความตาย เข้าใจความตาย ความสูญเสียเป็นธรรมชาติของชีวิตและความตายตามหลักพระพุทธศาสนา ผลการศึกษาที่ได้รวบรวมมาไว้นี้ แสดงให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายเป็นส่วนหนึ่งของสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของมรรค อันเป็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์ไปสู่ความพ้นทุกข์ ความถึงพร้อมด้วยศีล, ฉันทะ, ความศรัทธา
ที่ถูกต้องดีงาม ความไม่ประมาทและใช้ชีวิตเพื่อที่จะทำสร้างบุญกุศล ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
การพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านกาย เป็นการพัฒนาอายตนะทั้งภายใน ภายนอก และให้รู้จักใช้อายตนะและอวัยวะทั้งหลาย ให้มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีฉันทะ มีความสำรวมในอายตนะมากขึ้น รู้จักใช้ปัญญาในการไตร่ตรองสิ่งที่มากระทบ
การพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านศีล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งใจและรู้จักปฏิบัติต่อชีวิต หรือ ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องมีความสุข และหาทางออกจากความทุกข์ได้ด้วยความมีระเบียบวินัย รู้จักควบคุมและฝึกฝนตนเองมากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดโทษพิษภัยแก่ผู้อื่นและแก่สังคม รู้จักแสวงหา และเสพความสุขทางวัตถุที่หลีกเลี่ยงการเบียดเบียด และเกื้อกูลแก่สังคม
การพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านจิต ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีศรัทธาทางพระพุทธศาสนา และ
พระสงฆ์ มีมุมมอง บทบาทในพระสงฆ์แตกต่างจากความเข้าใจเดิม มีความเคารพต่อสรรพสิ่ง จิตใจอ่อนโยน พร้อมที่จะแบ่งปันกับผู้อื่น มีความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำต่อบาป โดยมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้จักควบคุมความหวั่นไหวที่เกิดขึ้นในจิตใจ รู้สึกปรารถนาที่อยากช่วยด้วยความรักและเห็นใจผู้คนที่ประสบความทุกข์
การพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านปัญญา ผู้สูญเสียที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากจะได้เยียวยาความเศร้าโศกในใจแล้ว ยังได้ประจักษ์ว่าการสูญเสียหรือความทุกข์นั้นนำมาซึ่งความงอกงาม และการพัฒนาชีวิตในทางที่ดี กระบวนการดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สูญเสียตระหนักในศักยภาพของตนเอง ที่มิได้ถูกจำกัดด้วยความเศร้าโศกเนื่องจากการสูญเสียที่สิ้นหวัง แต่เห็นโอกาส และประจักษ์แก่ตนเองว่าชีวิตมีคุณค่า และมีความหมายที่จะสามารถพัฒนาให้ถึงเป้าหมาย อันเป็นหนทางแห่ง ความรู้และความมีเหตุผล
ดาวน์โหลด
|