หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เชษฐ์สุดา มีเงิน
 
เข้าชม : ๒๑๐๕๑ ครั้ง
หลักธรรมเรื่องการยึดติดและการปล่อยวางในภาพยนตร์แอนิเมชั่น เรื่อง “ปู่ซ่าบ้าพลัง” (Up) (สาขาวิชาชีวิตและความตาย)
ชื่อผู้วิจัย : เชษฐ์สุดา มีเงิน ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสังฆรักษ์เอกภัทร อภิฉนฺโท
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักธรรมเรื่องการยึดติดและการปล่อยวางในพระพุทธศาสนา และ ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมเรื่องการยึดติดและการปล่อยวางตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “ปู่ซ่าบ้าพลัง” (Up)  โดยศึกษาเอกสารและค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมเรื่องการยึดติดและการปล่อยวางในพระพุทธศาสนา และศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมเรื่องการยึดติดและการปล่อยวางในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “ปู่ซ่าบ้าพลัง” (Up) สร้างโดยพิกซ่าร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยศึกษาวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ ๗ ประการ

             ผลการวิจัยพบว่า

             การยึดติด ตรงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า อุปาทาน มี ๔ ประเภท คือ    ๑) กามุปาทาน คือ การยึดติดในกาม ๒) ทิฏฐุปาทาน คือ การยึดติดในความคิดเห็น ๓) สีลัพพตุปาทาน คือ การยึดติดในความประพฤติ และ ๔) อัตตวาทุปาทาน คือ การยึดติดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน อุปาทานยังมีความสัมพันธ์กับหลักธรรมอื่น ๆ คือ อุปาทานสัมพันธ์กับกฎปฏิจจสมุปบาทในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดข้อธรรมอื่น ๆ อุปาทานสัมพันธ์กับหลักไตรลักษณ์ ในฐานะที่เป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อุปาทานสัมพันธ์กับหลักอริยสัจ ๔ ในฐานะที่เป็นสมุทัยให้เกิดทุกข์ และอุปาทานสัมพันธ์กับหลักขันธ์ ๕ ในฐานะที่เป็นอุปาทานขันธ์ ๕

             การปล่อยวาง หมายถึง การไม่ยึดติด การละอุปาทานได้ เพราะมีความเห็นที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ความเห็นที่ถูกต้องเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ ๔ ความรู้อกุศลและอกุศลมูล กับ กุศลและกุศลมูล เห็นไตรลักษณ์ และเห็นปฏิจจสมุปบาท สัมมาทิฏฐิมี ๒ ประเภท คือ ๑) โลกียสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้องสอดคล้องกับหลักศีลธรรม  ๒) โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงตามสภาวะของธรรมชาติ และปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิมี ๒ ประเภท คือ ๑) ปัจจัยภายนอก  หรือเรียกว่า ปรโตโฆสะ และ ๒) ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ

             หลักธรรมเรื่องการยึดติดและการปล่อยวางตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในภาพยนตร์ แอนิเมชั่นเรื่อง “ปู่ซ่าบ้าพลัง” (Up) ผ่านโครงสร้างการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ทั้ง ๗ ประการ คือ ๑) โครงเรื่อง การเริ่มเรื่องพบความเป็นไปของชีวิตที่เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ พัฒนาเหตุการณ์และเข้าภาวะวิกฤติโดยมีเหตุมาจากอุปาทานขันธ์ ๕ เข้าสู่ภาวะคลี่คลายเพราะปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ จึงมีสัมมาทิฏฐิ และยุติเรื่องราวด้วยการปล่อยวางได้และมีความสุข ๒) แก่นความคิด คือ การรู้จักปล่อยวางอดีต ๓) ความขัดแย้ง มีการนำเสนอให้เห็นความสำคัญของกัลยาณมิตร โยนิโสมนสิการ และกฎไตรลักษณ์  ๔) ตัวละคร พบการยึดติดของตัวละคร คือ อุปาทานทั้ง ๔ ประเภท และพบการเปลี่ยนแปลงของตัวละครคาร์ลและรัสเซล เพราะมีสัมมาทิฏฐิจึงปล่อยวางได้ ๕) ฉาก พบการออกแบบฉากที่สื่อถึงการยึดติดในกาม การยึดติดในความคิดเห็น และกฎไตรลักษณ์ ๖) สัญลักษณ์พิเศษ พบว่า สัญลักษณ์ที่เป็นวัตถุ คือ บ้าน หมายถึง การยึดติด สัญลักษณ์ที่เป็นรูปทรงมีมุมเหลี่ยม หมายถึง การยึดติด และความทุกข์ รูปทรงโค้งมน หมายถึง การปล่อยวาง และความสุข สัญลักษณ์ที่เป็นสีสดใสและแสงสว่าง หมายถึง การปล่อยวาง และความเบิกบาน สีหม่นและเงามืด หมายถึง การยึดติด และภัยอันตราย ๗) จุดยืนในการเล่าเรื่อง เป็นมุมมองของคนวัยชราที่มีความยึดติดกับอดีต และมีความเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง คือการไม่ยอมรับกฎไตรลักษณ์

             ข้อเสนอแนะ สำหรับผู้ผลิตภาพยนตร์แอนนิเมชั่น ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถรับชมได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ชมที่อยู่ในวัยเด็ก ควรส่งเสริมให้มีการนำเสนอความเป็นจริงในทุกด้านของชีวิตให้เหมาะสมกับการรับรู้ ควรให้เด็กได้เข้าใจความเป็นธรรมดาของชีวิต และสิ่งต่าง ๆ เพื่อเตรียมพื้นฐานของจิตใจเอาไว้สำหรับการเติบโตเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕