บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณและคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาระดับความเข้าใจในหลักสติปัฏฐาน ๔ ของผู้ปฏิบัติธรรมในมูลนิธิโพธิวัณณา จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒) เปรียบเทียบระดับความเข้าใจในหลัก สติปัฏฐาน ๔ ของผู้ปฏิบัติธรรมในมูลนิธิโพธิวัณณา จังหวัดฉะเชิงเทรา จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางจิตสังคมกับการใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ ของผู้ปฏิบัติธรรมในมูลนิธิโพธิวัณณา จังหวัดฉะเชิงเทรา
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นผู้ที่มาปฏิบัติธรรม ในหลักสูตรวิปัสสนาเบื้องต้น ๗ วัน ที่ศูนย์วิปัสสนา มูลนิธิโพธิวัณณา จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๔๐๐ คน โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้การวิเคราะห์ค่า t-test และ F-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Pearson’s Product Moment Correlations) ในการทดสอบสมมติฐาน
ผลวิจัยพบว่า
๑) ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ในช่วงอายุ ๒๑-๓๐ ปี สถานภาพโสด มีการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอาชีพเป็นพนักงานเอกชน รายได้ต่อเดือน ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท และมีการเข้าปฏิบัติเป็นระยะเวลาเป็นเวลาไม่ถึง ๑ ปี
๒) ผู้ปฏิบัติธรรมในมูลนิธิโพธิวัณณา จังหวัดฉะเชิงเทรามีระดับความเข้าใจในหลัก สติปัฏฐาน ๔ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดแล้ว พบว่าอยู่ในระดับ มาก ๓ หมวด ได้แก่ หมวดกายานุปัสสนา หมวดเวทนานุปัสสนา และหมวดธัมมานุปัสสนา และอยู่ในระดับปานกลาง ๑ หมวด คือ หมวดจิตตานุปัสสนา ตามลำดับ
๓) ผู้ปฏิบัติธรรมในมูลนิธิโพธิวัณณา จังหวัดฉะเชิงเทราที่มีอายุแตกต่างกัน มีระดับความเข้าใจในหลักสติปัฏฐาน ๔ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑
๔) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางจิตสังคมและการใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ ของผู้ปฏิบัติธรรมในมูลนิธิโพธิวัณณาโดยรวมและในแต่ละด้าน ทุกคู่ มีความสัมพันธ์เชิงบวก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑
๕) บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับความเข้าใจหลักสติปัฏฐาน ๔ ของผู้ปฏิบัติธรรมในมูลนิธิโพธิวัณณา จังหวัดฉะเชิงเทรา
ด้านกายานุปัสสนา พบว่า ผู้ปฏิบัติธรรมมีสติอยู่กับกาย รู้จักกำหนดตามความเคลื่อนไหวของกาย มีสติรู้เท่าทันกายที่กำลังเคลื่อนไหวและกำหนดรู้ลมหายใจ เมื่อไหร่ที่ผู้ปฏิบัติกำหนดอยู่กับปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติจะมีความเครียดน้อยลง เพราะจิตที่วางอุเบกขา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกุศลและอกุศล จึงทำให้จัดการความเครียดได้
ด้านเวทนานุปัสสนา พบว่า ผู้ปฏิบัติธรรมได้รู้จักกับทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น รู้เท่าทันทั้งสุขและทุกข์ เมื่อผู้ปฏิบัติวางใจเป็นกลางกับทุกอารมณ์ที่เข้ามา ทำให้รู้ว่าไม่ว่าอารมณ์สุขหรือทุกข์ก็จะผ่านมาและผ่านไป ไม่มีความฟุ้งซ่านกับอารมณ์นั้นๆ ทำให้เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นจะสามารถกำหนดรู้และวางใจเป็นกลางกับทุกสิ่งที่เข้ามา
ด้านจิตตานุปัสสนา พบว่า ผู้ปฏิบัติธรรมมีสติรู้เท่าทันกับทุกสิ่งที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล เช่น ความฟุ้งซ่าน กังวลใจ ก็จะกำหนดรู้ตามเหตุที่เกิดขึ้น เมื่อเข้าไปกำหนดถึงเหตุทำให้รับรู้และยอมรับตามความเป็นจริงที่เป็นธรรมชาติของจิตที่เป็นไป ซึ่งทำให้จัดการความเครียดได้โดยแค่เข้าใจและยอมรับตามความเป็นจริง
ด้านธัมมานุปัสสนา พบว่า ผู้ปฏิบัติรู้ถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าใจถึงทุกสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์และไม่มีตัวตน จึงไม่มีการยึดมั่นถือมั่น รักษาใจให้เป็นกุศล และนำพรหมวิหาร๔ เข้ามาปรับใช้ คือ เมตตาต่อผู้อื่น กรุณา เอาใจเขามาใส่ใจเรา มุทิตา ยินดีเมื่อทุกคนทำความดี และอุเบกขา-เข้าใจและยอมรับตามความเป็นจริง และใช้ชีวิตทุกวันกับทุกสิ่งแต่ไม่ทุกข์กับทุกสิ่ง
ดาวน์โหลด
|