หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ชลธร ถาวรกชกร
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๔ ครั้ง
ศึกษากระบวนการเยียวยามิติจิตวิญญาณของกลุ่มพระภิกษุอาสาคิลานธรรม ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (สาขาวิชาชีวิตและความตาย)
ชื่อผู้วิจัย : ชลธร ถาวรกชกร ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสังฆรักษ์เอกภัทร อภิฉนฺโท
  สาระ มุขดี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเยียวยามิติจิตวิญญาณของผู้ป่วยโดยกลุ่มพระภิกษุอาสาคิลานธรรมที่มาปฏิบัติงานเยียวยาผู้ป่วย ณ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ดำเนินการวิจัยโดยการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง (semi-structured In-depth Interview)จากกลุ่มตัวอย่างพระภิกษุอาสาคิลานธรรมที่มาปฏิบัติงานเยียวยาผู้ป่วย ณ คณะแพทยศาสตร์      วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จำนวน ๕ รูป และมีการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) ของพระภิกษุอาสาคิลานธรรม จำนวน ๕ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง จากนั้นใช้สถิติเชิงพรรณาโดยนำเสนอเป็นภาพรวมของการบรรยายเชิงพรรณา ระยะ เวลาในงานวิจัยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ผลการวิจัยพบว่า ขั้นตอนของกระบวนการเยียวยาผู้ป่วยทางมิติจิตวิญญาณโดยกลุ่มพระ ภิกษุอาสาคิลานธรรม มีดังนี้ คือ ๑) ปลูกศรัทธา (บนพื้นฐานความวางใจ) เป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นที่นำมาใช้ในกระบวนการเยียวยาจิตใจของผู้ป่วย เสมือนเป็นบันไดขั้นแรกในการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ๒) ค้นหาความทุกข์ เป็นการค้นหาความในใจของผู้ป่วย ว่ามีอะไรที่เป็นปมปัญหาชีวิตของผู้ป่วยซึ่ง เป็นสภาวะความบีบคั้นในจิตใจที่ทนได้ยาก ย่อมส่งผลกระทบถึงสภาพร่างกายที่เจ็บป่วยอยู่ก่อนแล้ว ๓) สร้างแนวทางสู่ความสุข เป็นการชวนระบายความบีบคั้นอยู่ในจิตใจขณะนั้นออกมา มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความผ่อนคลาย โปร่งโล่งสบาย แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง โดยช่วยให้ผู้ป่วยได้อยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ มีเวลาคิด และเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญปัญหาต่อไป ผู้ป่วยบางรายอาจแก้ปัญหาของตนได้ด้วยตนเองซึ่งขึ้นกับปัญญาของแต่ละคน ๔) ดับทุกข์ด้วยอริยสัจจ์ ๔ (จัดการความทุกข์) การที่ผู้ป่วยจะเห็นทุกข์ของตนเองได้ ส่วนมากเกิดจากพระผู้เยียวยาชวนให้ผู้ป่วยได้ระบายความทุกข์ก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีสติอยู่กับปัจจุบัน แล้วพระคุณเจ้านำหลักอริยสัจจ์ ๔ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละราย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นทางออกของปัญหาได้ด้วยตนเอง ๕) เสริมบารมีด้วยปัญญา มีการนำหลักพุทธธรรมมาช่วยในการเยียวยาด้วยหลักอริยสัจจ์ ๔ จะเป็นภาพใหญ่ที่  คลุมอยู่ โดยมีข้อปฏิบัติในการดับทุกข์คือ มรรค ซึ่งก็คือไตรสิกขา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  โพชฌงค์ ๗ เป็นธรรมที่ใช้จัดการทุกข์ นอกจากนี้ยังมีไตรลักษณ์ เป็นสัจธรรมที่ชี้ให้เห็นทุกข์ โดยทั้งนี้ผู้เยียวยาต้องมีพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักธรรมประจำตัว ๖) วางอุเบกขา ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายหากได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถยอมรับสภาพที่เป็นจริงของตนเองได้ รู้จักปล่อยวาง และลาจากไปด้วยอาการสงบ รวมทั้งช่วยให้ญาติผู้สูญเสียเกิดการยอมรับและเข้าใจธรรมชาติของชีวิตได้มากขึ้น

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕