บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยไว้ ๓ ประการ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและคุณค่าของการจัดงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ของวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ๒) เพื่อศึกษากระบวนการการบริหารงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และบริบทการเปลี่ยนแปลงของงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ของวัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ๓) เพื่อศึกษางานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์กับการสร้างพลังทางสังคม ของวัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม (Mixed Methodology Research) โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ มี ๒ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ ประชาชนชาวไทยทั่วไปผู้มาเที่ยวในจังหวัดนครปฐมทั้งปี ๒๕๕๔ จำนวน ๗๔๐,๖๘๑ คน โดยการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการเปรียบเทียบตารางสำเร็จรูปของ ทาโร ยามาเน่ ปรากฏได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๔๐๐ คน กลุ่มที่ ๒ คณะกรรมการทั้ง ๓๓ แผนก จำนวน ๒,๐๗๘ รูป/คน และกลุ่มภาคี ประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครปฐมทุกภาคส่วน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการจัดงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ของวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จำนวน ๗๙,๑๔๘ คน รวม ๘๒,๔๙๓ รูป/คน โดยการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการเปรียบเทียบตารางสำเร็จรูปของ ทาโร ยามาเน่ ปรากฏได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๐๔ คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Techniques)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปที่มีต่อการจัดงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ของวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ทั้ง ๕ ด้าน โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ๓.๙๒ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการให้ข้อมูล ด้านการบริการ ด้านการจัดสภาพแวดล้อม ด้านการจัดกิจกรรมเชิงพุทธ ด้านการจัดกิจกรรมเชิงประเพณี อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒. กระบวนการการบริหารจัดการงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ของวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ทั้ง ๖ ด้าน โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ๓.๙๔ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการวางแผน ด้านการจัดองค์การ ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการอำนวยการ ด้านการสร้างองค์ความรู้ ด้านการสร้างเครือข่ายทางสังคม อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๓. จากการวิเคราะห์กระบวนการการบริหารจัดงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ พบว่า กระบวนการการบริหารจัดงานเกิดการสร้างพลังให้เกิดแก่สังคมมี ๕ ด้าน ๑) ด้านการพัฒนาบุคลากร คือ การส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ มีการพัฒนากาย พัฒนาศีล พัฒนาจิต และปัญญา ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านกระบวนการฝึกอบรมตนเองก่อนเป็นอับดับแรกของผู้ปฏิบัติงาน ๒) ด้านการพัฒนาองค์กร คือ การสร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อทำงานช่วยเหลือสังคม เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาสังคม ๓) ด้านการพัฒนางาน คือ การจัดงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ขึ้นเพื่อทำให้งานพัฒนาตนเองเป็นไปตามกระบวนการการบริหารที่ได้กำหนดไว้นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและองค์กรทำให้เกิดการพัฒนาสังคมในด้านอื่นๆ ๔) ด้านการสร้างองค์ความรู้เชิงพุทธ คือการจัดกิจกรรมโดยนำเอาความเชื่อ ความรู้ทางประเพณีวัฒนธรรมไทยเข้ามาประยุกต์กับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกันจนก่อให้เกิดปัญญาในการดำเนินชีวิตและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ๕) ด้านการสร้างเครือข่ายทางสังคม คือ การพัฒนาโดยอาศัยภาคีที่มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการจัดงานได้ร่วมกันสร้างระบบเครือข่ายทางสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จนก่อให้เกิดความสามัคคีนำไปสู่การพัฒนาสังคม
ดาวน์โหลด
|