บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เป็นการวิจัยแบบผสม ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับประชากรกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว จำนวน ๓๖๘ รูป จากทั้งหมดทั้งสิ้น ๑,๔๘o รูป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อบรรยายข้อมูลสถานภาพส่วนบุคคลหรือตัวแปรต้น การทดสอบค่า (t-test) และการทดสอบค่าเอฟ (F-test) โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่า มีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ โดยวิธีการผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และ การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญซึ่งเป็นพระสังฆาธิการ จำนวน ๑๕ รูป และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑) จากการศึกษาการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว พบว่า พระสงฆ์ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว โดยรวมอยู่ในระดับมาก (= ๓.๙๐, SD = ๐.๓๔) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านสาธารณสุข ( = ๓.๙๓, SD = ๐.๓๙) รองลงมา ได้แก่ ด้านศิลปวัฒนธรรม ( = ๓.๙๒, SD = ๐.๔๑) ด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองการปกครอง (= ๓.๙๐, SD = ๐.๔๐) และด้านการศึกษา ( = ๓.๘๖, SD = ๐.๔๑)
๒) ผลการเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ภูมิลำเนาเดิม สถานภาพในวัด พรรษา การศึกษาทางโลก และการศึกษาทางธรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุและสถานภาพในวัดต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีภูมิลำเนาเดิม พรรษา การศึกษาทางโลกและการศึกษาทางธรรมต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓) เมื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค พบว่า ด้านการศึกษา: พระสงฆ์บางรูปยังขาดปัจจัยสนับสนุนด้านการศึกษาของชุมชน จึงไม่ได้ให้การสนับสนุนในด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้านเศรษฐกิจ: พระสงฆ์บางรูปยังไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไม่สามารถเป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนได้ ด้านสาธารณสุข: ขาดการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการรักษาสุขภาพจิตของชุมชนด้วยการนำปฏิบัติธรรม ด้านศิลปวัฒนธรรม: ขาดการส่งเสริมด้านศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งจารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนให้ได้รับการสืบทอดต่อไป ด้านการเมืองการปกครอง: พระสงฆ์ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมประชุมเพื่อเสนอปัญหาความต้องการของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น
ข้อเสนอแนะ ด้านการศึกษา: ควรสนับสนุนพระสงฆ์ในด้านปัจจัยทางการศึกษาของชุมชน เพื่อให้สามารถสนับสนุนในด้านนี้ อย่างเป็นรูปธรรม ด้านเศรษฐกิจ: ควรมีการฝึกอบรมให้กับพระสงฆ์ในด้านเศรษฐกิจบ้าง เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับวัดและชุมชน ด้านสาธารณสุข: ควรส่งเสริมและสนับสนุนด้านการรักษาสุขภาพจิตของชุมชนด้วยการนำปฏิบัติธรรมเป็นประจำทุกเดือน ด้านศิลปวัฒนธรรม: ควรส่งเสริมชุมชนด้านศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งจารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนให้ได้รับการสืบทอดต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ด้านการเมืองการปกครองควรให้พระสงฆ์ได้มีส่วนร่วมประชุมเพื่อเสนอปัญหาความต้องการของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น
ดาวน์โหลด |