บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการพัฒนากลุ่มผู้ผลิต เสื่อจันทบูร จังหวัดจันทบุรี ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การบูรณาการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ในการพัฒนาของกลุ่มผู้ผลิตเสื่อจันทบูร จังหวัดจันทบุรี ๓) เพื่อศึกษาการบูรณาการหลักพุทธธรรมในการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตเสื่อจันทบูร จังหวัดจันทบุรี
การศึกษาครั้งนี้ การวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method Research) ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) การวิจัยเชิงปริมาณใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บข้อมูลโดยการแจกแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง ที่ได้จากการเปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างของทาโร ยามาเน จำนวน ๒๑๕ คน โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ลักษณะของแบบสอบถามเป็นทั้งปลายปิด และปลายเปิด วิเคราะห์ข้อมูล โดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation :S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าเอฟ (F-test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. การบูรณาการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ในการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตเสื่อจันทบูร จังหวัดจันทบุรีโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ๓.๗๓ เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า ด้านทาน ด้านปิยวาจา ด้านอัตถจริยา ด้านสมานัตตตา อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒. การบูรณาการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ในการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตเสื่อจันทบูร จังหวัดจันทบุรีโดยจำแนกข้อมูลสถานภาพส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุระดับการศึกษา สถานภาพ รายได้ต่อเดือน โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่สถิติระดับ ๐.๐๕
๓. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการบูรณาการหลักสังคหวัตถุ ๔ กับการพัฒนาของกลุ่มผู้ผลิตเสื่อจันทบูร จังหวัดจันทบุรี พบว่า สมาชิกไม่ค่อยจะมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม สมาชิกบางคนใช้วาจาไม่ค่อยสุภาพในการสนทนาและปฏิบัติงาน สมาชิกไม่ค่อยขวนขวายช่วยเหลือกิจการต่างๆ ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และข้อเสนอแนะ คือ การให้การบริจาคสิ่งของ การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม ควรใช้คำพูดให้สุภาพ และคำพูดที่มีประโยชน์ต่อสมาชิกทุกคน การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกได้ รับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุม
ดาวน์โหลด
|