บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของข้าราชการที่มีต่อการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนของสำนักงานเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของข้าราชการที่มีต่อการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการตามระเบียบวิธีวิจัย โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งดำเนินการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัย คือ ข้าราชการสังกัดสำนักงานเขตตลิ่งชันจำนวน ๑๒๕ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation: S.D.) การทด สอบค่าที (t-test) การทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) เมื่อพบว่ามีความแตกต่าง จะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่า เฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญที่น้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) โดยกำหนดนัยสำคัยทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ โดยใช้โปรแกรมสถิติสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน ๙๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๓.๖, มีอายุระหว่าง ๓๐-๓๙ ปี จำนวน ๔๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๐, มีสถานภาพสมรส จำนวน ๖๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๙.๖, มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน ๘๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๖.๔, มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า ๒๕,๐๐๑ บาทขึ้นไป จำนวน ๔๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๘, มีประสบการณ์ด้านการทำงานตั้งแต่ ๑๖ ปีขึ้นไป จำนวน ๕๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๕.๖
๒. ระดับความคิดเห็นของข้าราชการที่มีต่อการการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากทั้ง ๕ ด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านแบบแผนความคิดอ่าน รองลงมา ได้แก่ ด้านการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ด้านการเรียนรู้แบบเป็นทีม ด้านความรอบรู้แห่งตน และด้านการคิดอย่างเป็นระบบ
๓. ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ข้าราชการที่มี เพศ อายุ สถานภาพ วุฒิการศึกษา รายได้ต่อเดือน และประสบการณ์ด้านการทำงาน แตกต่างกัน มีผลต่อระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลพบว่า ข้าราชการที่มี เพศ วุฒิการศึกษา แตกต่างกันมีระดับความคิดเห็นไม่มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่เมื่อจำแนกตาม อายุ สถานภาพ รายได้ต่อเดือน และประสบการณ์ด้านการทำงานพบว่า มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
๔. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร คือ ๑) ด้านความรอบรู้แห่งตน: บุคลากรส่วนใหญ่รอบรู้เฉพาะหน้าที่ ที่ตนรับผิดชอบ เมื่อบุคลากรคนใดหนึ่งไม่อยู่ทำให้งานต้องหยุดชงัก ข้อเสนอแนะ: ควรจัดให้มีการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หน้าที่ของแต่ละคน เพื่อให้แต่ละคนสามารถทำงานแทนกันได้ ๒) ด้านแบบแผนความคิดอ่าน: บุคลากรไม่ค่อยมีเวลาในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เนื่องจากภารกิจในการทำงานมีมาก ข้อเสนอแนะ: ควรใช้ช่วงเวลาว่างในการค้นคว้าหาความรู้ เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ในการปฏิบัติงาน ๓) ด้านการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน: เจ้าหน้าที่ขาดการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ: ควรเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกระดับได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ และความเป็นกันเองมากขึ้น ๔) ด้านการเรียนรู้แบบเป็นทีม: ภายในองค์การยังขาดการประสานงาน พูดคุยและเปลี่ยนทัศนะร่วมกัน ข้อเสนอแนะ: ควรมีการยอมรับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และควรสร้างความสามัคคีภายในองค์การด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานมากขึ้น ๕) ด้านการคิดอย่างเป็นระบบ: ขาดเวลาในการพัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเวลาในการปฏิบัติงานมีมาก ข้อเสนอแนะ: ควรจัดให้มีการอบรมหรือให้ความรู้ในการคิดอย่างเป็นระบบอย่างสม่ำเสมอและควรจัดให้มีการฝึกอบรม เสนอแนะเทคนิคในการรวบยอดความคิด
ดาวน์โหลด
|