บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษากระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระพุทธศาสนา และนิเวศวิทยา ๒) เพื่อศึกษากระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดเขาวง ในฐานะวัดต้นแบบของการจัดการสิ่งแวดล้อม ๓) เพื่อศึกษาเกณฑ์ชี้วัดและผลลัพธ์ของการจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี การวิจัยครั้งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการสังเกตการณ์กับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key-informant) จำนวน ๑๓ รูป/คน ได้แก่ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส พระสงฆ์ และคณะกรรมการที่ทำงานอยู่ในวัดเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
ผลการวิจัยพบว่า
๑) แนวคิดและกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวพระพุทธศาสนานั้นเป็นกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่อาศัยหลักธรรม และหลักวินัยมาเป็นแนวทางในการจัดการเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งต่อธรรมชาติ และชีวิต โดยหลักพุทธธรรมที่นำมานั้นประกอบด้วย หลักไตรสิกขา หลักไตรลักษณ์ และหลักสันโดษ เป็นต้น ส่วนหลักพระวินัยที่นำมาประยุกต์ใช้นั้นประกอบด้วย หลักภูตคามสิกขา สิกขาบทเกี่ยวกับการตัดต้นไม้ เป็นต้น สำหรับแนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักนิเวศวิทยาพบว่า เป็นการศึกษาที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่มีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม การจัดการในวิถีธรรมชาติเพื่อให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติและสรรพสิ่ง
๒) การศึกษากระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดเขาวง พบว่า เป็นกระบวนการจัดการที่เป็นขั้นตอน โดยมีการนำหลักพุทธธรรม เช่น หลักสัปปายะ ๗ หลักไตรสิกขา ผสมผสานกับแนวคิดด้านนิเวศวิทยา และแนวคิด ๕ ส มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้เชิงพุทธ เน้นความสะอาด ร่มรื่น สะดวก สบาย และให้เป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับเรียนรู้ ซึ่งมีการวางแผน การวิเคราะห์ปัญหา การสร้างการเรียนรู้ การเสริมสร้างพลังทางสังคม โดยทางวัดมองว่า การเรียนรู้ที่ดีเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่สวยงามและมีการส่งเสริมการดำเนินการใน ๓ ลักษณะ คือ การจัดการ ด้านสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม การดำเนินการกิจกรรมเชิงพุทธให้เกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจ และการดำเนินการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การเข้าถึงพุทธธรรม เช่น สัปปุริสธรรม อิทธิบาท ๔ และพรมวิหาร ๔ เป็นต้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ จิตอาสา วิถีพุทธ การฝึกสมาธิ และการดูแลสุขภาพ การรักษาความสะอาดและมีวินัยในตัวเองมาเป็นเครื่องมือให้เกิดการพัฒนา สำหรับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีประชาชนในพื้นที่นั้น ได้รับความร่วมมือจากคณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลเขาวง กลุ่มลูกศิษย์ สื่อมวลชน ประชาชน และวัดสระเกศ เป็นต้น
๓) การศึกษาเกณฑ์ชี้วัด และผลลัพธ์ของการจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดเขาวง พบว่า ทางวัดได้มีเกณฑ์ชี้วัดด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้เชิงพุทธควบคู่กัน เริ่มตั้งแต่เกณฑ์ชี้วัดด้านกายภาพ เน้นให้เป็นวัดมีความสะอาด ร่มรื่น เป็นพื้นที่สัปปายะ ด้านการบริหารจัดการ มีการวางแผน มีการจัดการมีการวางระบบที่ดี เหมาะแก่การเรียนรู้ ด้านสุขภาวะจิต มีการวางระบบที่ดี พัฒนามาจากภายในจิต มีสุขภาพดี มีความสุขทางกายและทางจิตใจ และเกณฑ์ด้านปัญญา คือการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ มีความคิดที่สร้างสรรค์บนสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ซึ่งผลจากการดำเนินการทำให้วัดเขาวงได้รับรางวัลวัดต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม รางวัลเสมาธรรมจักร เป็นต้น
ดาวน์โหลด
|