บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารงานบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร และ ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของการบริหารงานบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อเพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการบริหารงานบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ตัวแปรต้น ได้แก่ เพศ อายุ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ตำแหน่งในการปฏิบัติงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ จำนวน ๑๐๗ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น และมีค่าความเชื่อมั่นที่ระดับ ๐.๙๕ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percent) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One–way ANOVA) และการทดสอบเป็นรายคู่โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe’ post hoc comparison)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. ระดับความคิดเห็นของผู้บริหารและครูที่มีต่อการบริหารงานบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้ง ๕ ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า คะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมาก ไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการออกจากราชการ ด้านวินัยและการรักษาวินัย ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ด้านการวางแผนอัตรากำลังและการกำหนดตำแหน่ง ด้านการสรรหาและการบรรจุแต่งตั้ง
๒. ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ผู้บริหารและครูที่มีเพศ ประสบการณ์การทำงานตำแหน่งในการปฏิบัติงานต่างกัน มีความคิดเห็นต่อบริหารงานบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาแตกต่างกัน มีนัยสำคัญทางสถิติ ๐.๐๕ ซึ่งตรงตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ในส่วนของ อายุ วุฒิการศึกษา พบว่า ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้
๓. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ พบว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร บุคลากรที่ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ มีไม่เพียงพอ บุคลากรบางคนไม่มีความถนัดในงานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน ขาดงบประมาณสนับสนุนในการให้บุคลากรเข้ารับการอบรมและพัฒนาความรู้ของตนเอง ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้กระทำผิดวินัย ไม่สั่งให้ผู้ประพฤติตัวไม่เหมาะสมออก ส่วนข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้บริหารและครู ได้แก่ ควรจัดอัตรากำลังให้เพียงพอต่อความต้องการในการปฏิบัติงานของโรงเรียน ควรมีการจัดบุคลากรเข้าปฏิบัติงานตามความสามารถ ตามความถนัดและด้วยความสมัครใจ โรงเรียนควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการพัฒนาบุคลากร ควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้กระทำผิดวินัย ควรสั่งให้ผู้ประพฤติตัวไม่เหมาะสมให้ออกจากโรงเรียน
ดาวน์โหลด
|