หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ศรวัสย์ มณีโลกย์
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๐ ครั้ง
แนวทางการประยุกต์ใช้หลักอริยมรรคมีองค์ 8 สำหรับ การปฏิบัติราชการ
ชื่อผู้วิจัย : ศรวัสย์ มณีโลกย์ ข้อมูลวันที่ : ๐๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาปรีดา ขนฺติโสภโณ
  อุทัย เอกสะพัง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

                                   บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้  (1)  เพื่อศึกษาหลักอริยมรรคมีองค์ 8    (2)  เพื่อศึกษาปัญหาของการปฏิบัติราชการของไทย  และ  (3)  เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้หลักอริยมรรคมีองค์ 8 เพื่อแก้ปัญหาของการปฏิบัติราชการของไทย  ดำเนินการวิจัยโดยการศึกษาหลักอริยมรรคมีองค์ 8  จากพระไตรปิฎก หนังสือของปราชญ์ทางพุทธศาสนา หนังสือและเอกสารต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับหลักอริยมรรคมีองค์ 8  ศึกษาปัญหาของการปฏิบัติราชการของไทยจากกฎหมายและระเบียบราชการ กฎ  กฎเกณฑ์ หลักเกณฑ์ และหลักการต่างๆ จากเว็บไซต์ของส่วนราชการ ตลอดจนเว็บไซต์ที่มีชื่อสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป  และศึกษาแนวทางการประยุกต์จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หนังสือวิชาการ ตลอดจนเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และเอกสารชั้นทุติยภูมิ  ได้แก่  งานวิจัย  วิทยานิพนธ์  ตำราวิชาการ  หนังสือ  เอกสาร  สิ่งตีพิมพ์ทางวิชาการ  รวมทั้งข้อมูลและความรู้ทางอินเตอร์เน็ต  นำข้อมูลและความรู้ที่ได้มาจัดประเภทตามหัวเรื่องที่กำหนด  แล้วทำการวิเคราะห์  สังเคราะห์  ตีความ  อธิบายข้อมูลเชิงพรรณนา  เรียบเรียงและนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะ

    

ผลการวิจัยพบว่า 

                                1. หลักอริยมรรคมีองค์ 8 นั้น  เกี่ยวข้องกับหลักอริยสัจ 4  หลักไตรสิกขา หลัก     อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท  และหลักไตรลักษณ์  โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาพฤติกรรมหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้องดีงามทางกาย วาจา จิตใจ และทิฐิของมนุษย์ ซึ่งมีการพัฒนาไปตามหลักอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นหลักมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง และใช้แนวทางของศีล  สมาธิ  และปัญญา  ตามหลักไตรสิกขา  เนื่องจากหลักอริยมรรคมีองค์ 8 สรุปลงได้ในหลักไตรสิกขา แต่เรียงลำดับใหม่เป็น ปัญญา ศีล สมาธิ แสดงให้เห็นถึงการเน้นเรื่องปัญญา อย่างไรก็ตามทั้งไตรสิกขาและอริยมรรคมีองค์ 8 ล้วนเป็นหลักธรรมที่เป็นไปตามหลัก                   อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ศีลเป็นเหตุปัจจัยของสมาธิ สมาธิเป็นเหตุปัจจัยของปัญญา และปัญญาเป็นเหตุปัจจัยของศีล อาจกล่าวได้ว่าทั้งศีล สมาธิ และปัญญาต่างก็เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังมีหลักธรรมที่ส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สติปัฏฐาน 4  สัมมัปปธาน 4  อิทธิบาท 4  อินทรีย์ 5  พละ 5  โพชฌงค์ 7  ธาตุ 4  ขันธ์ 5  อายตนะภายใน 6 และกฎแห่งกรรม

                   2. ปัญหาของการปฏิบัติราชการสามารถสรุปได้  3  ประการ  ประกอบด้วย          ( 1 ) ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องดีงามของข้าราชการ  ซึ่งต้องแก้ไขให้ข้าราชการเป็นข้าราชการที่ดีมีคุณธรรม  จริยธรรม  มีพฤติกรรมในการปฏิบัติราชการที่ถูกต้องดีงามทางกาย  วาจา  และจิตใจ      ( 2 ) ปัญหาวิธีปฏิบัติราชการที่ไม่ถูกต้องของข้าราชการ  ซึ่งต้องแก้ไขให้ข้าราชการใช้ปัญญาในการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องตามนโยบาย  กฎหมาย  ระเบียบราชการ  และหนังสือสั่งการต่างๆ  และ     ( 3 ) ปัญหางานราชการไม่บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ  ซึ่งต้องแก้ไขให้งานราชการเกิดประสิทธิผล  ประสิทธิภาพ  คุณภาพ  และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การบริหาร การปกครอง  โดยปัญหาของการปฏิบัติราชการทั้ง  3  ประการนี้  ล้วนแต่ต้องใช้ร่างกาย  วาจา  จิตใจ  ความคิด  สติ  ปัญญา  ความเพียร  และสมาธิ  ในการแก้ไขปัญหาและปฏิบัติราชการในทางที่ถูกต้องดีงามทั้งสิ้น

                   3. แนวทางการประยุกต์ใช้หลักอริยมรรคมีองค์ 8 เพื่อแก้ปัญหาของการปฏิบัติราชการทั้ง 3 ประการดังกล่าว โดยเน้นการพัฒนาทิฐิของข้าราชการให้เป็นสัมมาทิฐิ  เพื่อให้เป็นหลักธรรมนำวิถีการกระทำทางจิตใจหรือมโนกรรมให้เป็นสัมมาสังกัปปะ  การกระทำทางวาจาหรือวจีกรรมให้เป็นสัมมาวาจา  การกระทำทางกายหรือกายกรรมให้เป็นสัมมากัมมันตะ  โดยมีหลักธรรมที่เป็นกำลังอันประกอบด้วยสัมมาวายามะ  สัมมาสติ  และสัมมาสมาธิ  เป็นกำลังที่ก่อให้เกิดสัมมาทิฐิ  เพื่อนำไปสู่การมีสัมมาสังกัปปะ  สัมมาวาจา  และ  สัมมากัมมันตะ  ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในการแก้ปัญหาของการปฏิบัติราชการทั้ง 3 ประการดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการปฏิบัติราชการให้เป็นสัมมาอาชีวะ  โดยพัฒนาองค์มรรคทั้ง 8 ประการไปพร้อมๆกันตามหลักมรรคสมังคี  รวมทั้งหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่  หลักอริยสัจ 4  หลักไตรสิกขา  หลักอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท  และหลักไตรลักษณ์  ประกอบกับหลักธรรมที่ส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8        ได้แก่  สติปัฏฐาน 4  สัมมัปปธาน 4  อิทธิบาท 4  อินทรีย์ 5  พละ 5 โพชฌงค์ 7  ธาตุ 4  ขันธ์ 5   อายตนะภายใน 6  และกฎแห่งกรรม

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕