บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาแรงจูงใจในการเรียนบาลีของนักเรียนชั้นประโยค ๑-๒ ตามหลักอิทธิบาท ๔ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดนครปฐม ๒) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับแรงจูงใจในการเรียนบาลีของนักเรียนชั้นประโยค ๑-๒ ตามหลักอิทธิบาท ๔ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดนครปฐม ๓) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแรงจูงใจในการเรียนบาลีของนักเรียนชั้นประโยค ๑-๒ ตามหลักอิทธิบาท ๔ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดนครปฐม ดำเนินการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) เก็บข้อมูลจากประชากรกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ พระภิกษุและสามเณรที่เป็นนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดนครปฐม ชั้นประโยค ๑–๒ ซึ่งมีจำนวน ๑๔๓ รูป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติ Pearson Chi-Square Tests เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้น (Independent Variables) และตัวแปรตาม (Dependent Variables)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. พระภิกษุและสามเณรที่เป็นนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดนครปฐม ชั้นประโยค ๑–๒ มีความเห็นต่อแรงจูงใจในการเรียนบาลีของนักเรียนชั้นประโยค ๑-๒ ตามหลักอิทธิบาท ๔ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดนครปฐม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = ๓.๗๐) เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒. ผลการทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าสถิติไคสแควร์ (c2) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ๐.๐๕ พบว่า พระภิกษุและสามเณรที่เป็นนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดนครปฐม ชั้นประโยค ๑–๒ ที่มีสถานภาพ อายุ จำนวนปีที่บวช (พรรษา) และระยะเวลาที่ศึกษามีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจในการเรียนบาลีของนักเรียนชั้นประโยค ๑-๒ ตามหลักอิทธิบาท ๔ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดนครปฐม มีความสัมพันธ์กันซึ่งยอมรับสมมติฐานการวิจัยทุกข้อที่ตั้งไว้
๓. ข้อเสนอแนะแนวทางในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนบาลีของนักเรียนชั้นประโยค ๑-๒ ตามหลักอิทธิบาท ๔ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดนครปฐม ด้านความสำเร็จ เจ้าสำนักเรียนควรมีรางวัลตอบแทนผู้ที่สอบประโยคบาลีผ่านในแต่ละระดับ และกำหนดรางวัลตอบแทนในแต่ละระดับที่ชัดเจน ด้านการยกย่อง เจ้าสำนักเรียนควรประกาศยกย่อง ชมเชย ผู้ที่สำเร็จในการเรียนต่อหน้าสาธารณะชน และสนับสนุนผู้ที่ยังเรียนไม่ผ่าน ด้านลักษณะของงาน เจ้าสำนักเรียนควรหาวิธีการและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนในการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ด้านความรับผิดชอบ เจ้าสำนักเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการวางแผนการเรียนรู้ ด้านความก้าวหน้า เจ้าสำนักเรียนควรสนับสนุน และให้ความสำคัญผู้ที่ประสบความสำเร็จ ด้านความเจริญเติบโตส่วนบุคคล เจ้าสำนักเรียนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีการแสดงความสามารถส่วนตัว ในการเล่าเรียน
ดาวน์โหลด
|