หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสุรศักดิ์ สุรสกฺโก (โพธิ์เงิน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๔ ครั้ง
ปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำของสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี (พุทธบริหารการศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสุรศักดิ์ สุรสกฺโก (โพธิ์เงิน) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สิน งามประโคน
  ยุทธวีร์ แก้วทองใหญ่
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี ๓) เพื่อเสนอรูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำแก่สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้บริหาร ครู นักเรียน จำนวน ๒๔๐ คน และใช้การสัมภาษณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๑๐ รูป/คน จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติอนุมาน และการวิเคราะห์แบบอุปนัย (Inductive Analysis)

              ผลการวิจัยพบว่า :

๑. สภาพการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีทั้งในด้านกายภาพ ด้านพฤติกรรมครู ผู้บริหารและนักเรียน ด้านการเรียนการสอน ด้านกิจกรรมประจำวันพระ และด้านการส่งเสริมวิถีพุทธ ในภาพรวมพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยด้านกายภาพที่แสดงถึงความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ เช่น มีพระพุทธรูปประจำโรงเรียน      มีป้ายพุทธสุภาษิต ป้ายคติธรรม เป็นต้น มีระดับค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน  ที่เน้นการคิดแบบมีเหตุผล ถูกวิธี เข้าใจ และรู้คุณค่าแท้ของสรรพสิ่ง ด้านพฤติกรรมครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียนที่มุ่งเน้นรักษาศีล ๕  การยิ้มง่าย ไหว้สวย กราบงาม  ด้านการส่งเสริมวิถีพุทธ เช่น การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความรับผิดชอบต่อตนเอง เต็มใจช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงใจ การมีจิตอาสาฯลฯ และด้านกิจกรรมประจำวันพระตามลำดับ ซึ่งแสดงให้ถึงความสามารถในการจัดการโรงเรียน     ให้เป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนาที่มีการบูรณาการไปสู่การเรียนการสอนในวิชาการต่างๆ กับการส่งเสริมให้มีพฤติกรรมเชิงพุทธของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

๒. ปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีพบว่า มีปัจจัยทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ในเชิงบวกนั้นสิ่งที่มีผลต่อการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ ได้แก่ การเอาใจใส่ดูแลของผู้บริหาร คณะครู นักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งการส่งเสริมจากพระสงฆ์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนกิจกรรมเชิงพุทธ โดยมีการนำหลักพุทธธรรมและหลักวิถีพุทธมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ปัจจัยเชิงลบ ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านบุคลากร และด้านบริหารงานทั่วไป โดยในด้านวิชาการนั้นยังขาดการบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชาอื่นๆ นักเรียนขาดความสนใจในรายวิชาพระพุทธศาสนา ด้านงบประมาณยังขาดการบริหารงบประมาณที่นำมาใช้ในกิจกรรมเชิงพุทธ เนื่องจากโรงเรียนมีความปรารถนาที่จะบริหารงบประมาณที่เป็นอิสระ มุ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน   ในภาพรวมมากว่าการจัดกิจกรรมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้านบุคลากร พบว่า ทั้งครู นักเรียนยัง ไม่ให้ความสนใจและเรียนรู้ในเชิงพุทธอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านบริหารงานทั่วไปนั้นยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธในระดับน้อย

๓. รูปแบบการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีพบว่า การบริหารโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำนั้นควรนำอัตลักษณ์ ๒๙ ด้านของโรงเรียนวิถีพุทธมาประยุกต์ใช้ร่วมกับหลักไตรสิกขาเพื่อพัฒนาไปสู่การพัฒนาการบริหารโรงเรียนวิถีพุทธ โดยอาจใช้รูปแบบ “PPTAB  Model” ที่หมายถึงการพัฒนาด้านกายภาพ (Physical) ให้เป็นที่สัปปายะต่อการเรียนรู้ ด้านการส่งเสริมวิถีพุทธ (Promote the Buddhist way) ด้านการเรียนการสอน (Teaching on Demand) ด้านส่งเสริมกิจกรรมเชิงพุทธ (Activities in Buddhist) เพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้และการปฏิบัติที่นำไปสู่ด้านพฤติกรรมเชิงพุทธที่พึงประสงค์ (Behavior)

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕