บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาสภาพทั่วไปการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารสถานศึกษา อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษาตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษาตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์โดยศึกษากับกลุ่มตัวอย่างผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่ จำนวน ๒๑๙ คน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบโดยการทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที(t-test ) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยมีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (LeastSignificant Difference : LSD ) และสรุปข้อมูลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้
ผลการวิจัย พบว่า
๑. สภาพการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ มี ๕ ด้าน ได้แก่
๑) การวางแผนงานบุคคล ๒) การจัดบุคลากรเข้าปฏิบัติงาน ๓) การพัฒนาบุคลากร ๔) การธำรงและการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากร ๕) การประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า การบริหารงานบุคคลตามหลักปริสัญญุตา มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด สำหรับการบริหารงานบุคคลตามหลักอัตตัญญุตา มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารสถานศึกษา อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ ระดับการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบ ประสบการณ์ในการทำงาน และขนาดสถานศึกษา พบว่า โดยรวมภาพ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ซึ่งตรงตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ด้านมัตตัญญุตาไม่แตกต่างกัน ส่วนในด้านที่เหลืออื่น ๆ ทุกด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
๓. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษาตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ จำแนกแต่ละด้าน มีแนวทางดังนี้ ๑) การวางแผนงานบุคคล ผู้บริหารควรวางแผนการจัดการบริหารอย่างเป็นระบบและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ๒) การจัดบุคลากรเข้าปฏิบัติงาน ผู้บริหารควรยึดหลักธรรมที่ส่งเสริมการบริหารการจัดการเกี่ยวกับงานบุคคล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ตัวผู้บริหาร และความโปร่งใสในการบริหารงานบุคคล ๓) การพัฒนาบุคลากร ผู้บริหารควรพัฒนาตนเอง และส่งเสริมให้ผู้อื่นมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ๔) การธำรงและการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากร ผู้บริหารควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารเวลา และจัดลำดับความสำคัญของงานได้อย่างเหมาะสม ๕) การประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร ผู้บริหารควรศึกษาเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
ดาวน์โหลด
|