บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษากับการใช้หลักพรหมวิหาร ๔ ในอำเภอชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑, ๒) เพื่อเปรียบเทียบทรรศนะของครูผู้สอนกับการใช้หลักธรรมพรหมวิหาร ๔ ในการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ในอำเภอชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล, ๓) เพื่อเสนอแนวทางการใช้หลักธรรมพรหมวิหาร ๔ ในการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ในอำเภอชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑
โดยศึกษากับกลุ่มตัวอย่างจำนวน (๑๕๙) คน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณและสัมภาษณ์เชิงลึกภาคสนาม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบโดยการทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกัน จึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยมีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD )
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษากับการใช้หลักพรหมวิหาร ๔ ในอำเภอชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒. เปรียบเทียบทรรศนะของครูผู้สอนกับการใช้หลักธรรมพรหมวิหาร ๔ ในการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ในอำเภอชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน พบว่า ครูผู้สอนที่มีเพศ อายุ และประสบการณ์ทำงาน มีทรรศนะกับการใช้หลักธรรมพรหมวิหาร ๔ ในการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ในอำเภอชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑ ไม่แตกต่างกัน ส่วนครูผู้สอนที่มีระดับการศึกษา มีทรรศนะกับการใช้หลักธรรม พรหมวิหาร ๔ ในการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ในอำเภอชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑ แตกต่างกัน
๓. แนวทางการใช้หลักธรรมพรหมวิหาร ๔ ในการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ในอำเภอชุมแสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๑
ด้านเมตตา ผู้บริหารควรมีความรักความเมตตาปรารถนาดี ห่วงใยจริงใจ และรู้จักช่วยเหลือสนับสนุนให้ครูผู้สอนได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ
ด้านกรุณา ผู้บริหารควรมีการช่วยเหลือ แนะนำ เป็นที่ปรึกษาและร่วมแก้ปัญหาให้กับครูผู้สอนได้โดยไม่เบียดเบียนใครรวมทั้งตนเอง
ด้านมุทิตา ผู้บริหารควรมีมิตรสัมพันธ์ที่ดีโดยการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ต้องรู้จักยกย่อง ชมเชยครูผู้สอนที่ทำความดีตามความเหมาะสม
ด้านอุเบกขา ผู้บริหารควรมีความสามารถรอบด้านและรู้หน้าที่ของตนอย่างกว้างขวาง มีความเชื่อมั่นในตนเอง เด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ มีความยุติธรรม มีเหตุผลและวางตัวเป็นกลางอย่างสม่ำเสมอ
|