บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษา ในเขตอำเภอคลองลาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต ๒ ๒) เพื่อเปรียบเทียบการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษาในเขตอำเภอคลองลาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต ๒ จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล ๓) เพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปรย่อยของหลักธรรมาภิบาลกับภาพรวมของการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษา และ ๔) เพื่อวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทาง การพัฒนาการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษา ในเขตอำเภอคลองลาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต ๒ โดยศึกษากับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๗๑ คน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Research) การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In – depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จากผู้อำนวยการโรงเรียน ในเขตอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๕ โรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน ๒ โรงเรียน รวมผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๗ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม และสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบโดยการทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) และหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ๒ ตัว แบบสเปียร์แมน (Spearman rank-order correlation coefficient) และสรุปข้อมูลปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ ผลการวิจัยพบว่า ความคิดเห็นของข้าราชการครูต่อการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษา อยู่ในระดับมาก
เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของข้าราชการครูต่อการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษาพบว่า เพศ อายุ ระดับการศึกษา และประสบการณ์ทำงานต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษาไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ซึ่งเป็นการปฏิเสธสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ทั้ง ๔ ข้อ
เมื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปรย่อยของหลักธรรมาภิบาลกับภาพรวมของการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษามีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับสูงกับหลักธรรมาภิบาลทั้ง ๖ ด้าน คือ ด้านหลักนิติธรรม ด้านหลักคุณธรรม ด้านหลักความโปร่งใส ด้านหลักการมีส่วนร่วม ด้านหลักความรับผิดชอบ และด้านหลักความคุ้มค่า ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๑ จึงต้องยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ทั้ง ๖ ข้อ
การนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารโรงเรียนจะไม่เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานทุกกลุ่มงานของโรงเรียน และแนวทางการพัฒนาการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ คือ ผู้บริหารต้องนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ทุกด้าน กำหนดนโยบายและประกาศต่อสาธารณะให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน มีการส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจ การปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงเรียนทุกด้าน และผู้บริหารต้องมุ่งมั่น จริงใจ จริงจัง มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบ ที่สำคัญต้องเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นตัวอย่างให้แก่บุคลากรทุกคนได้ และจะเกิดความศรัทธาให้ความร่วมมือกับผู้บริหารอย่างเต็มที่ และนำหลักธรรมพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลมาช่วยในการบริหารงาน คือ ยกระดับจิตใจให้หลุดพ้นจากความคิดที่ไม่ถูกต้อง ไม่งาม (อกุศลมูล) ทำความดี เสียสละ เกื้อกูลกัน (บุญกิริยาวัตถุ) พร้อมรับฟังการกล่าวตำหนิจากคนอื่น (ปรโตโฆสะ สัมมาทิฏฐิ) วางตัวสม่ำเสมอ เคารพคนอื่น (สมานัตตา) และทศพิธราชธรรม ๑๐ หลักธรรมสำหรับผู้บริหาร
ดาวน์โหลด
|