บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การบริหารงานบุคคลของโรงเรียนประถมศึกษาในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนประถมศึกษาในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการพัฒนาการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์
ดำเนินการวิจัยการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้การวิจัยเชิงปริมาณเป็นข้าราชการครูของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์เขต ๑ ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ จำนวน ๒๒๘ คน ได้มาจากการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างใช้โดยสูตรของทาโร่ ยามาเน่ และใช้วิธีการการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยการจับสลากสุ่มเลือกโรงเรียนที่จะนำมาเป็นกลุ่มตัวอย่างให้ได้ครบตามขนาดของกลุ่มประชากร ๕๘๔ คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์เขต ๑ ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน ๗ ท่าน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม (questionnaire) และแบบสัมภาษณ์ (interview) โดยมีค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือ (Reliability) เท่ากับ ๐.๘๐๙
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที (t-test) ในกรณีตัวแปรต้นหนึ่งตัวแบ่งเป็นสองกลุ่ม การทดสอบเอฟ (F-test) โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) ในกรณีตัวแปรต้นหนึ่งตัวแบ่งตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป และเมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยมีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และหาความสัมพันธ์โดยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ตามวิธีของ สเปียร์แมน (Spearman rank-order Correlation Coefficient)
สำหรับข้อมูลที่ไดจาการสัมภาษณ์นำมาวิเคราะห์เนื้อหา โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis Technique) ประกอบบริบทและประมวลผลเข้าด้วยกัน และสรุปแนวทางในการพัฒนาการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ข้าราชการครูมีความคิดเห็นต่อการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษา โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ด้านวินัยและการรักษาวินัย ด้านการวางแผนอัตรากำลังและการกำหนดตำแหน่ง ด้านการออกจากราชการ ด้านการสร้างขวัญกำลังใจ และด้านการสรรหาและบรรจุแต่งตั้ง
๒. ข้าราชการครูที่มีสถานภาพส่วนบุคคลต่างกัน มีความคิดเห็นการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งโดยรวมและรายด้านแตกต่างกัน อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๑ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ตัวแปรย่อยในหลักการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนประถมศึกษาในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ คือ ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ด้านวินัยและการรักษาวินัย ด้านการวางแผนอัตรากำลังและการกำหนดตำแหน่ง ด้านการออกจากราชการ ด้านการสร้างขวัญกำลังใจ และด้านการสรรหาและบรรจุแต่งตั้งในการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษา อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๑ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
ดาวน์โหลด |