บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง “บทบาทของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนพหุวัฒนธรรมตามหลักพุทธสันติวิธี” ผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการท่องเที่ยวชุมชนและหลักสาราณียธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาบริบทของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในฐานะแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ๓) เพื่อวิเคราะห์บทบาทของวัดประยุรวงศาวาส วรวิหารในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนพหุวัฒนธรรมตามหลักพุทธสันติวิธี เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม ทั้งหมดจำนวน ๑๕ ท่าน
ผลการศึกษา พบว่า
๑) การท่องเที่ยวชุมชน: จะประสบความสำเร็จและมียั่งยืนได้นั้น สำคัญอย่างยิ่ง คือ การได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนในการร่วมด้วยช่วยกันรักษาทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่และเป็นที่รู้จัก สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทั้งนี้หลักสาราณียธรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาถือได้ว่า เป็นเครื่องมือผูกความรักสามัคคีในชุมชนและสามารถช่วยให้ชุมชนก้าวข้ามผ่านความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา
๒) บริบทของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในด้านการท่องเที่ยวชุมชน: วัดถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นกระตุ้นจิตสำนึกในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมทำให้ชุมชนทั้ง ๖ แห่ง เรียกว่า ย่านกะดีจีน ซึ่งประกอบด้วย ๓ ศาสนา ๔ ความเชื่อ เกิดความรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรม เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงความผูกพันของพี่น้องต่างศาสนาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และได้นำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้ในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนโดยมีวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารเป็น ผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมและสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกชุมชนรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ก็ให้การสนับสนุน ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนประสบความสำเร็จ สะท้อนได้จากนักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจในการมาท่องเที่ยววัดและอยากแนะนำต่อให้กับผู้อื่น
๓) บทบาทของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนพหุวัฒนธรรม ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรชุมชน พัฒนาการเรียนรู้ และการส่งเสริมความสามัคคีของชุมชน นอกจากนี้ ผู้นำวัดนับว่าเป็นต้นแบบของผู้เป็นเอกทางวิชาการและจรณะเป็นกำลังสำคัญในการบริหารวัดให้เป็นศูนย์รวมใจของคนในชุมชนที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
องค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับจากการศึกษานี้ คือ ต้นแบบของการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนให้มีความยั่งยืนและสันติสุขท่ามกลางความเป็นพหุวัฒนธรรมโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางศาสนาที่เชื่อมสัมพันธ์ทำให้สังคมหรือชุมชนนั้นเป็นแผ่นดินที่มีสันติสุข (Peace Land) ด้วยการขยายพันธุ์ต้นไม้แห่งสันติสุข (Peace Tree) ให้เติบโตและงอกงามในสังคมซึ่งจะช่วยทำให้การท่องเที่ยวชุมชนมีความสุขและยั่งยืน (Peaceful and Sustainable Tourism) โดยการปลูกต้นไม้สันติสุขผ่านโมเดลที่เรียกว่า WATPRAYUN’S MODEL ซึ่งเป็นต้นไม้แห่งสันติภาพ (Peace Tree) ที่จะช่วยสร้างสรรค์แผ่นดินสันติสุข (Peace Land) สามารถอธิบายได้ดังนี้ W = Wealth (ความมั่งคั่ง) A = Authority (อำนาจ) T = Traditions & Cultures (ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม) P = Peace Education (ความสันติสุข/ความสงบสุข) R = Root History (รากฐานประวัติศาสตร์และความเป็นมา) A = Aesthetic Holy Place (สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และความสวยงาม) Y = Young Peoples (กลุ่มคนหนุ่มสาว) U = Unity (ความสามัคคีและความเป็นเอกภาพของชุมชน N = Nationality (เชื้อชาติ/สัญชาติ) และผู้ที่จะปลูกต้นไม้สันติสุขนี้จำเป็นต้องเป็นผู้นำที่มีหัวใจรักเมตตากรุณาและมีใจที่เปิดกว้างตามลักษณะของผู้ที่มีสาราณียธรรมเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
ดาวน์โหลด |