บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย และศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ทั้งที่ส่งเสริมและเป็นอุปสรรคที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ตลอดถึงศึกษาการประยุกต์ใช้และคุณค่าความเป็นผู้ว่าง่ายกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฏก ฏีกา และคัมภีร์อื่น ๆ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ผลของการศึกษาพบว่า ความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นหลักธรรมสำคัญที่พระผู้มีพระภาคทรงจัดไว้เป็นมงคล ในมงคลสูตร และเป็นคุณธรรมที่ทำให้เป็นที่พึ่งของตนได้ ในนาถกรณธรรม นอกจากนี้ ยังได้ทราบถึงลักษณะสำคัญของผู้ว่าง่าย ๓ ประการ คือรับฟังโดยความเคารพ ทำตามโดยความเคารพ และสำนึกในบุญคุณของท่านผู้สอน ส่วนประเภทของผู้ว่าง่ายแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ผู้ว่าง่ายที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ และเป็นมงคลแก่ชีวิต และผู้ว่าง่ายไม่ควรแก่การสรรเสริญ ในเรื่องการฝึกตนให้เป็นผู้ว่าง่ายนั้น ปรากฏในอนุมานสูตร ซึ่งกล่าวถึงธรรมเพื่อนำมาพิจารณาตน ๑๖ ประการ ส่วนกรณีตัวอย่างบุคคลผู้ว่าง่ายในสมัยพุทธกาลและปัจจุบันนั้น จะทำให้เห็นลักษณะของความเป็นผู้ว่าง่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หลักธรรมที่ส่งเสริมความเป็นผู้ว่าง่าย ได้แก่ หลักมงคลสูตร, หลักนาถกรณธรม, กัลยาณมิตรธรรม, ธรรมทำให้งาม, และหลักโยนิโสมนสิการ เป็นต้น ส่วนหลักธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อความเป็นผู้ว่าง่าย ได้แก่ ปฏิฆะ, และมานะ ในสังโยชน์ และ ทิฏฐิ ในอุปาทาน เป็นต้น
การประยุกต์ใช้และคุณค่าของความเป็นผู้ว่าง่ายตามหลักโสวจัสสตากับบริบทของสังคมไทยใน ๓ ประเด็นคือ เพื่อเกื้อกูลความดีแห่งตน, เกื้อกูลความดีต่อสังคม, และเกื้อกูลความดีต่อพระพุทธศาสนา
ดาวน์โหลด
|