หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เกื้อกูล มูลทา
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๘ ครั้ง
การศึกษาแนวทางการเจริญสติในชีวิตประจำวันตามหลักคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ชื่อผู้วิจัย : เกื้อกูล มูลทา ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักการเจริญสติในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาวิธีการ การเจริญสติตามหลักคำสอนของหลวงพ่อเทียน    จิตฺตสุโภ (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตามหลักคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร

             จากการศึกษาวิจัยพบว่าหลักการเจริญสติในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นหลักการกำหนดสติอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันขณะ โดยการนำสติมากำหนดไว้ที่กาย เรียกว่ากายนุปัสสนาสติ
ปัฏฐาน มี ๖ หมวด ๑๔ บรรพ นำสติมากำหนดไว้ที่เวทนา เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นำสติมากำหนดไว้ที่จิต เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน นำสติมากำหนดไว้ที่ธรรม เรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๕ บรรพ จุดมุ่งหมายของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้เกิดสมาธิตั้งมั่นมีปัญญาเข้าไปเห็นธรรมชาติของกายใจตามความเป็นจริงว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
จนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดดับทุกข์ในระดับต่าง ๆ ได้ จนถึงนิพพาน

             วิธีการเจริญสติตามหลักคำสอนของหลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภ ตรงกับหลักการเจริญสติ
ปัฏฐาน ๔ ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในอิริยาบถบรรพและสัมปชัญญบรรพ รูปแบบวิธีการเจริญสติได้ประยุกต์มาจากวิธีการเจริญสติเคลื่อนไหวบริกรรมติ่ง-นิ่ง ติ่ง-นิ่ง ของพระมหาปาน        พระอาจารย์สอนกรรมฐานแห่งประเทศสาธารณประชาธิปไตยลาว โดยหลวงพ่อเทียนได้นำมาปรับให้เป็นการเคลื่อนไหวที่มี ๑๔ จังหวะ เพื่อให้มีรูปแบบที่ชัดเจนไม่ต้องใช้คำบริกรรม แต่ใส่ความรู้สึกตัวลงไปแทน วิธีการเจริญสติรูปแบบเคลื่อนไหวถือว่าเป็นรูปแบบฝึกซ้อม เป้าหมายที่แท้จริงเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญในการนำมาประยุกต์เข้ากับการเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่าง ๆ ที่เป็นธรรมชาติเดิมอยู่ก่อนแล้วของมนุษย์ การเจริญสติวิธีนี้หวังผลเพียงขณิกสมาธิ เขย่าธาตุรู้ให้ตื่นขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ มุ่งจัดการกับความคิดอันเป็นสมุฏฐานแรกแห่งทุกข์ เน้นที่การดับทุกข์ในปัจจุบันเป็นสำคัญ ทุกข์อื่น สวรรค์อื่น นิพพานอื่น ตลอดจนนรกอื่น ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติในปัจจุบัน ศักยภาพของมนุษย์สามารถพัฒนาไปจนถึงพุทธสภาวะและนิพพานกันได้ทุกคน โดยอาศัยหลักการเจริญสติวิปัสสนาเป็นเครื่องมือ

             แนวทางการเจริญสติในชีวิตประจำวัน หมายถึง การนำเอาสติมากำหนดไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ให้ชีวิตประจำวันเป็นไปเพื่อการเจริญสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เมื่อต้องเจออุปสรรคใด ๆ ก็สามารถดึงเอาสติมาใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา ตราบที่มนุษย์ยังมีลมหายใจ สติมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิต ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนเชื้อชาติศาสนาใดก็ตาม ต้องอาศัยสติเท่านั้นจึงจะเข้าถึงความสุขได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการเจริญสติจึงเป็นการงานที่ทุกคนควรปฏิบัติ สติเป็นธรรมที่มีอุปการะอย่างสูงในชีวิต สติเป็นเสาเข็ม เป็นรากฐาน เป็นภูมิคุ้มกัน          เป็นหลักประกันชีวิต เป็นรากเหง้าแห่งคุณธรรมทุกอย่างในตัวของมนุษย์ ผู้มีสติย่อมมองเห็นธรรมชาติของชีวิตตามความเป็นจริง ดำเนินชีวิตอยู่บนความถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิไม่ประมาท ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความสุขสงบและสันติ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจเป็นเบื้องต้นเสียก่อน แล้วจึงส่งผลต่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง และสติยังเป็นเครื่องมือเดินทางไปถึงปลายทางสุดท้ายของชีวิตมนุษย์    คือ นิพพาน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕