บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ “การวิเคราะห์การประหยัดพลังงานไฟฟ้าในสังคมไทยตามหลักสัปปุริสธรรม” โดยมีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาการใช้พลังงานไฟฟ้าในสังคมไทยปัจจุบัน
(๒) เพื่อศึกษาหลักสัปปุริสธรรมสำหรับการประหยัดพลังงานไฟฟ้า (๓) เพื่อวิเคราะห์การประหยัดพลังงานไฟฟ้าตามหลักสัปปุริสธรรม โดยเป็นการศึกษาในเชิงเอกสาร แล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เปรียบเทียบในเชิงพรรณนา ดังนี้
การใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันทุกภาคส่วน สถิติของการใช้ไฟฟ้าของไทยตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมา ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีปัจจัยหลักคือ การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การส่งออก การจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศที่มีการขยายตัวดีมาก และการเพิ่มของประชากร จากแนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากและฟุ่มเฟือย หากในอนาคตไม่ดำเนินการให้มีการจัดการทรัพยากรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยอาจจะประสบปัญหาการเกิดวิกฤตการณ์ทางพลังงานอย่างแน่นอน ทั้งนี้จึงมีมาตรการบังคับประหยัดพลังงานนี้เป็นโครงการปฏิบัติต่อเนื่อง เช่น พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม ปี พ.ศ. ๒๕๓๘
การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
หลักสัปปุริสธรรมสำหรับการประหยัดพลังงานไฟฟ้า หลักสัปปุริสธรรม ธรรม ๗ ประการ ประกอบด้วย ๑) ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ ๒) อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้เหตุผล ๓) อัตตัญญุตา รู้จักตน ๔) มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ๕) กาลัญญุตา รู้จักกาลเวลา ๖) ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน สังคม ๗) ปุคคลัญญุญา รู้จักบุคคล เป็นธรรมของคนดี มีคุณสมบัติความเป็นคนที่สมบูรณ์ มีการดำเนินชีวิตอย่างเป็นแบบอย่างที่ดี รู้จักความพอประมาณในการบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ตามหลักเศรษฐกิจแบบพุทธ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงนำมาเป็นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางแห่งการประมาณตน ใช้ในการพัฒนาชีวิต อยู่อย่างเรียบง่าย ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำมาปรับใช้ในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและอนุรักษ์พลังงาน ลดการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ใช้ให้รู้คุณค่าก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การประหยัดพลังงานไฟฟ้าเป็นหน้าที่ของทุกคนจะต้องมีความตระหนักรู้ ปฏิบัติตนตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการ และน้อมนำเอาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มาใช้ในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดความสะดวกสบายให้น้อยลง การจำกัดการใช้ ตัวอย่างเช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศตั้งอุณหภูมิที่เย็นพอเหมาะกับร่างกาย การเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่างพอดีกับความต้องการของสายตา ปิดไฟที่ไม่จำเป็น รู้จักใช้ ดูแลและบำรุงรักษาทรัพย์สินสิ่งของเครื่องใช้ทั้งของตนและส่วนรวม เป็นต้น เป็นการใช้อย่างมีประโยชน์ และใช้อย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและการอนุรักษ์พลังงานเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ใช้ในอนาคตได้นานขึ้น ช่วยให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
ดาวน์โหลด
|