บทคัดย่อ
ดุษฎีนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับมารยาทในทรรศนะสังคมไทย เพื่อศึกษามารยาทตามหลักพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ เพื่อศึกษาหลักพระธรรมวินัยในฐานะเป็นฐานของมารยาทไทย ซึ่งการวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า
มารยาทไทยตามทรรศนะสังคมไทย หมายถึงกิริยาวาจาที่สุภาพเรียบร้อย ที่บุคคลพึงปฏิบัติในสังคม โดยมีระเบียบแบบแผน อันเหมาะสมตามกาลเทศะ อันมีขอบข่ายครอบคลุมถึงกิริยาวาจาต่างๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การรับของส่งสิ่งของ การทำความเคารพ การแสดงกิริยาอาการ การรับประทานอาหาร การให้และรับบริการ การทักทาย การสนทนา การใช้คำพูด การฟัง การพูด การแต่งกาย บุคลิกภาพ รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติในพิธีการต่างๆ ของบุคคลผู้ที่มีกาย วาจา ใจ อันประกอบสุจริตและความอ่อนน้อมถ่อมต้น เป็นต้น
พระวินัยที่เป็นฐานของมารยาทไทย จากการศึกษาพบว่า ได้แก่ หลักอภิสมาจาร อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของภิกษุ และหลักเสขิยวัตร อันเป็นข้อปฏิบัติที่ภิกษุจะต้องศึกษาสำหรับฝึกฝนกิริยามารยาทให้ดูเรียบร้อยงดงามสมกับภาวะของสมณะยังความเลื่อมใสให้เกิดแก่ผู้พบเห็น ส่วนหลักธรรมะที่เป็นฐานให้เกิดมารยาทไทย ได้แก่ อปจายนธรรม คารวธรรม สังคหวัตถุธรรม วาจาสุภาษิต พรหมวิหารธรรม สมชีวิตธรรม ทิฏฐธัมมิกธรรม มาตาปิตุอุปัฏฐานธรรม เป็นต้น นอกจากนี้มารยาทไทยที่เกิดจากพระธรรมวินัย อันเป็นฐานให้เข้าถึงธรรมหรือบรรลุธรรม จากการศึกษาพบว่า มี อคติ โลกปาลธรรม กัลยาณธรรม ไตรสิกขา อปัณณกปฏิปทา อัปปมาทธรรม และสติปัฏฐาน เป็นต้น จากหลักธรรมทั้งหมดดังกล่าวมานี้ เป็นมารยาทที่เป็นฐานให้เกิดความงามกล่าวคือ ‘งามกาย งามวาจา งามทิฏฐิ และงามปัญญา’ และนอกจากนี้ยังส่งผลเชื่อมต่อไปยังหลักธรรมอื่นๆ ในลำดับสูงๆ ขึ้นไปตั้งแต่โลกิยธรรม จนถึงโลกุตตรธรรม
ดาวน์โหลด
|