หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ศิริพรรณ สุทธินนท์
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
วัฒนธรรมข้าว: กระบวนการผลิตและการบริโภคตามวิถีพุทธ
ชื่อผู้วิจัย : ศิริพรรณ สุทธินนท์ ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร)
  พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ)
  พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร)
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษากระบวนการผลิตและกระบวนการบริโภคข้าวตามวัฒนธรรมข้าว (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตและกระบวนการบริโภคตามวัฒนธรรมข้าว (๓) เพื่อบูรณาการหลักธรรมในกระบวนการผลิตและกระบวนการบริโภคข้าวตามวัฒนธรรมข้าว วิธีการดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพ โดยศึกษาวิเคราะห์และเรียบเรียงเป็นพรรณาโวหาร

ผลการศึกษาผู้วิจัยพบว่า วัฒนธรรมข้าวในทางพระพุทธศาสนาและสังคมไทยมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวพุทธในสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณกาล การปลูกข้าวเป็นวิถีการดำรงชีพตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ข้าวเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย เป็นสายใยร้อยความสัมพันธ์ ความสามัคคีต่อกันในสังคม จึงก่อให้เกิดการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับข้าว เพราะคนไทยเชื่อว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ ดังนั้น พิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้าวมักจะมีลักษณะร่วมกันระหว่างความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ จึงเป็นเหตุให้มีพิธีกรรมทั้งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและที่เกี่ยวข้องกับข้าว ซึ่งอยู่ในรูปแบบของการทำนาในสังคมชาวพุทธ เพราะฉะนั้น ในกระบวนการผลิตจะคำนึงถึงธรรมชาติ นึกถึงความเป็นสิริมงคล จึงมีพิธีกรรมวัฒนธรรมข้าว เมื่อได้ข้าวได้ผลผลิตมาก็จะเอามาแบ่งปันให้ทานกัน เพื่อสร้างความเกื้อกูลในสังคม หลักพุทธธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตก็มีอิทธิบาท ๔ ซึ่งมีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน ให้เห็นประโยชน์ตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ มีการช่วยเหลือกันลงแขกเกี่ยวข้าว เมื่อบริโภคข้าวก็นึกถึงการให้ทาน นึกถึงอิทธิบาท ๔

ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยจะมีวัฒนธรรมข้าว มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปบ้างแล้วแต่ความเชื่อและความเหมาะสมของสภาพความเป็นอยู่ แต่จะมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน คือ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนที่เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในรูปแบบของการทำนา ชาวพุทธในสังคมไทยทุกภาคจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่ บูชาแม่โพสพ เพื่อต้องการให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ จนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อต้องการให้ได้ผลผลิตที่ดีนั่นเอง และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน จึงมีการนำเอาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้รวมกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน จะเกิดเป็นวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ มีการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรในกลุ่มชุมชนขึ้น มีการทำธนาคารข้าว โรงเรียนชาวนา เกษตรอินทรีย์เข้ามา ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวอย่างมีความสุข มีความมั่นใจในการผลิตและมีความปลอดภัยในชีวิต ขายผลผลิตได้ดี ถือเป็นการปลูกข้าวเพื่อชีวิต เป็นทางเลือกใหม่ของชาวนานั่นเอง

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕