บทคัดย่อ
ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย ๓ ประการ คือ (๑) ศึกษาความหมายและความสำคัญของธรรมนิยาย (๒) วิเคราะห์เนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักธรรมในธรรมนิยายของทมยันตี (๓) นำเสนอรูปแบบและกลวิธีการสื่อธรรมนิยายของทมยันตี
ผลการวิจัยพบว่า ธรรมนิยาย คือเรื่องเล่าที่มีเนื้อหาแฝงคติธรรม เป็นเรื่องเล่าที่มีผู้แต่งขึ้น เพื่อปลูกฝังคุณธรรมให้แก่สังคม นิทานธรรมบทของพระพุทธโฆษาจารย์ และธรรมนิยายของทมยันตี มีความสอดคล้องกันหลายประการ อาทิ ในการเล่าเรื่องมีตัวละคร และมีคำเปรียบเทียบ
รูปแบบและกลวิธีการเขียนธรรมนิยายของทมยันตี มีความแตกต่างจากรูปแบบและกลวิธีการเขียนธรรมนิยายทั่วไป ทมยันตีสื่อธรรมนิยายในรูปแบบเฉพาะตน ที่ได้สั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ การเขียน และการค้นคว้ามายาวนานถึง ๖๐ ปี
ธรรมนิยายของทมยันตีกอปรด้วยศาสตร์หลายแขนง อาทิ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา เทวศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดดเด่นด้วยการผสมผสานด้านวรรณศิลป์ที่ลุ่มลึก งดงาม สามารถตรึงผู้อ่านให้สนใจติดตามแม้บางเรื่องยากที่จะเข้าใจหากไม่มีพื้นฐานมาก่อน นับว่าเป็นวิธีบูรณาการรูปแบบและกลวิธีการสื่อธรรมอย่างเหมาะสม กลมกลืน และชาญฉลาด
รูปแบบและกลวิธีการสื่อธรรมของทมยันตีที่สำคัญมี ๔ ขั้นตอน คือ (๑) แนวการเขียน (๒) กำหนดเค้าโครงเรื่อง (๓) ค้นและการคว้า (๔) การสร้างสมาธิและเขย่าค็อกเทล (เขย่าค็อกเทลเป็นภาษาเฉพาะของทมยันตี)
ธรรมนิยายของทมยันตี ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน แต่ละเรื่องมีผู้นำไปตีพิมพ์ซ้ำนับสิบครั้ง อีกทั้งส่งอิทธิพลต่อผู้เขียนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาเรียนรู้วิธีการสื่อธรรมนิยาย เพื่อเรียนรู้รูปแบบการประพันธ์ธรรมนิยายที่มีคุณภาพ
ธรรมนิยายของทมยันตีสามารถสื่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ได้อย่างสอดคล้องลึกซึ้งและคมคาย ทั้งในส่วนที่เป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และข้อคิดทางจริยธรรม ด้วยรูปแบบนวนิยายที่ให้ทั้งความสนุก ตื่นเต้น ชวนติดตาม และเป็นแรงบันดาลใจให้นักอ่านมีความสนใจได้ค้นคว้า เกี่ยวกับหลักทางพระพุทธศาสนาในระดับลึกต่อไปอีกด้วย
ดาวน์โหลด
|