บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมเชิงพุทธของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับพฤติกรรมการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมเชิงพุทธของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้หลักภาวนา ๔ ในการพัฒนาพฤติกรรมการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมเชิงพุทธของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบล ป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Methods) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างของ Taro Yamane ที่ระดับความเชื่อมั่น ๙๕% จำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน ๓๓๓ ตัวอย่าง
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ระดับพฤติกรรมการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมเชิงพุทธของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ด้านศีลภาวนามีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ด้านกายภาวนา ด้านปัญญาภาวนา ส่วนค่าเฉลี่ยน้อยสุดคือด้านจิตภาวนา
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับพฤติกรรมการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมเชิงพุทธของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ รายได้ ที่พักอาศัย สุขภาพ การออกกำลังกาย และกิจกรรมทางศาสนาที่ปฏิบัติ พบว่า เมื่อจำแนกตาม เพศ อาชีพ รายได้ ที่พักอาศัย สุขภาพ และการออกกำลังกาย แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐาน ส่วนอายุและกิจกรรมทางศาสนาที่ปฏิบัติ ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐาน
๓. แนวทางการประยุกต์ใช้หลักภาวนา ๔ ในการพัฒนาพฤติกรรมการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมเชิงพุทธของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พบว่า ด้านกายภาวนานั้น ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายตามอัตภาพที่ตนเองจะสามารถปฏิบัติได้ และเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีคุณค่าทางโภชนาการ และควรหมั่นพบแพทย์ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ด้านศีลภาวนา ผู้สูงอายุควรประพฤติปฏิบัติตามหลักของศีล ๕ ต้องสำรวมกาย วาจา และใจ เพื่อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ด้านจิตภาวนา ผู้สูงอายุควรเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้มีความสุขกับชีวิต ให้มองชีวิตอย่างมีคุณค่า มุ่งมั่นเพื่อชีวิตที่ดีที่สุดไปเรื่อยๆ และควรปฏิบัติธรรมเพื่อความสงบสุขทางใจเสมอ และด้านปัญญาภาวนา ผู้สูงอายุควรแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาปัญญาของตนด้วยการฝึกสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
ดาวน์โหลด
|