บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ 1) เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล 3) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 4) เพื่อศึกษาหลักสังคหวัตถุ ๔ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสมผสานอย่างเท่าเทียม (Mixed Methods)
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า
1. คุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน ในประเด็น 8 ด้าน โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านความเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ สภาพการทำงานที่ปลอดภัย และส่งเสริมสุขภาพ ส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุดได้แก่ จังหวะชีวิต พบว่า ข้าราชการตำรวจมีเวลาในการพักผ่อนที่น้อยไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตนเอง ดังนั้น ควรจัดสรรกำลังพลให้เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีเวลาพักผ่อนและดูแลสุขภาพ
2. ผลการเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล อันได้แก่ ตำแหน่ง เพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา ระดับเงินเดือน และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน พบว่า เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน โดยภาพรวมจำแนกตามตำแหน่ง เพศ สถานภาพ และระดับการศึกษา ไม่มีความแตกต่างกัน แต่อายุ ระดับเงินเดือน และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05
3. การนำหลักสังคหวัตถุ ๔ มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พบว่า มีการนำหลักสังคหวัตถุ 4 มาใช้ใน การพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน ทุกด้าน ได้แก่ด้านทาน คือ การบริจาค หน่วยงานได้ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ มีการเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ ด้านปิยวาจา คือ ส่งเสริมด้วยการพูดให้กำลังใจกับผู้ใต้บังคับบัญชาในการปฏิบัติงาน และให้ใช้วาจาที่สุภาพต่อประชาชนที่มาติดต่อราชการให้เกิด ความประทับใจ ด้านอัตถจริยา คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งประชาชน เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา และสมานัตตตา คือ ส่งเสริมแนวทางในการดำเนินชีวิต ให้ยืดถือปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างตรงไปตรงมา และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตลอดจนการเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิต
ดาวน์โหลด |