บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑.เพื่อศึกษาความคิดของประชาชนต่อการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ๒.เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓.เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ๔.เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีประสิทธิภาพตามความคิดเห็นของประชาชน ดำเนินการโดยวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชากรในพื้นที่เทศบาลตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๓๗๖ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๙๖ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way Anova) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการหาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) ในส่วนของข้อคำถามปลายเปิดที่แสดงปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแบบสอบถามปลายเปิด จากนั้นจะทำการวิเคราะห์ โดยใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) และข้อมูลการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยทำ การจัดกลุ่มข้อมูล (Data Grouping) สาระสำคัญของประเด็นการสัมภาษณ์ จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis Technique)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นชาย จำนวน ๒๑๕ คน คิดเป็น ร้อยละ ๕๗.๒ มีอายุ ๓๖-๔๕ ปี จำนวน ๑๓๑ คน คิดเป็น ร้อยละ ๓๔.๘ มีระดับการศึกษา ประถมศึกษา จำนวน ๑๐๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๗ มีอาชีพกสิกรรม/เกษตร จำนวน ๑๐๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๐ รายได้/ต่อเดือน ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑๗๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๕.๕
๒. ความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง ๖ ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๒) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านหลักนิติธรรม ด้านหลักคุณธรรม ด้านหลักความโปร่งใส ด้านหลักการมีส่วนร่วม ด้านหลักความรับผิดชอบด้าน และหลักความคุ้มค่า ประชาชนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกด้าน
๓. การเปรียบเทียบการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ประชาชนที่มีเพศ อายุระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้/ต่อเดือน โดยภาพรวม เพศ และรายได้/เดือน พบว่า ปฏิเสธสมมุติฐาน ส่วน อายุ , ระดับการศึกษา และอาชีพ พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ๐.๐๑ และ ๐.๐๕ ซึ่งยอมรับสมมุติฐาน
๔. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของเทศบาลตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ในปัญหาและอุปสรรค พบว่าประชาชนในเขตพื้นที่บางส่วนยังไม่ทราบข้อกฎหมายหรือเทศบัญญัติต่าง ๆ และมีข้อเสนอแนะให้ผู้บริหารบริหารงานโดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลให้ครบทั้ง ๖ ด้าน เพราะหลักธรรมาภิบาลเป็นการบริหารการปกครองที่ดีที่ทุกๆ ส่วนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงามเหมาะที่จะนำมาใช้ในการบริหารองค์กรต่างๆ ให้มีความประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.
๕. ผลการสัมภาษณ์ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่เน้นในเรื่องปัญหา อุปสรรค และมีข้อเสนอแนะการบริหารหลักธรรมาภิบาลทั้ง ๖ ด้าน คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ในการนำหลักธรรมาภิบาลไปปรับใช้ กับหน่วยงานหรือองค์กรให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและมีการปรับปรุงการบริหารให้มีคุณภาพ มีการบริการสาธารณะต่างๆให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชนและนำทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นแนวทางการบริหารจัดการ
ดาวน์โหลด
|