บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุจุดประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร จำแนกตาม อายุ อายุพรรษา วุฒิการศึกษาเปรียญธรรม วุฒิการศึกษาสามัญ และ ๓) เพื่อศึกษา ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ เขตบางพลัด เขตตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ สำรวจกลุ่มตัวอย่างจาก พระสังฆาธิการในพื้นที่กรุงธนเหนือ กรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตบางพลัด เขตตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย ซึ่งมีจำนวน ๑๒๘ รูป จากจำนวนพระสังฆาธิการทั้งหมด ๑๘๘ รูป ซึ่งใช้วิธีสุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยการใช้สูตรของทาโร่ ยามาเน่ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของพระสังฆาธิการ คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ส่วนสถิติที่ใช้วิเคราะห์ระดับการมีส่วนร่วมของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร คือ ค่าความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยเพื่อบรรยายข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล การทดสอบค่าเอฟ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลหลัก และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑. พระสังฆาธิการมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = ๓.๔๐, S.D. = ๐.๓๑) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน คือ ด้านฝึกอบรม ด้านการศึกษา ด้านพัฒนา พบว่า ด้านฝึกอบรมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๕๒, S.D. = ๐.๖๘) และด้านการพัฒนาอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๘๘, S.D. = ๐.๙๗) ส่วนด้านที่เหลืออยู่ในระดับปานกลาง
๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระสังฆาธิการต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล คือ อายุ อายุพรรษา การศึกษาเปรียญธรรม การศึกษาสามัญ พบว่า พระสังฆาธิการที่มีอายุ อายุพรรษา การศึกษาสามัญต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย สำหรับปัจจัยส่วนบุคคลที่เหลือไม่มีผลต่อความคิดเห็นของพระสังฆาธิการ จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓. ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร พบว่า ๑) ปัญหาเรื่องของงบประมาณที่ใช้ก็จะต้องมีเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าจัดเตรียมสถานที่ ค่าอาหาร ค่าจ้างของผู้ที่ทำหน้าที่ในการฝึกอบรมหรือที่เรียกว่าวิทยากร ๒) ไม่มีงบประมาณในการส่งเสริมการศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และควรมีการประเมินผลให้รู้ถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ ๓) ถ้าไม่ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น บุคลากรเองถ้าหยุดนิ่งไม่พัฒนา ตัวเราก็อยู่กับที่มีแต่ถอยหลัง สังคมก็ไม่พัฒนา ประเทศชาติก็ไม่พัฒนา ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ สำหรับข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร พบว่า ๑) วิทยากรที่จะมาฝึกอบรมพนักงานควรเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เราต้องการฝึกอบรม และมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริง และควรมีการประเมินผลหลังจากได้รับการฝึกอบรม และควรทำแบบสอบถามเพื่อจะได้รู้ว่าผู้ที่จะเข้ารักการฝึกอบรมมีความสนใจ และอยากจะเรียนรู้ในเรื่องอะไร ๒) ผู้มีอำนาจควรจะจัดให้มีการส่งเสริมการศึกษาด้วยการจัดหาแหล่งทุน ทั้งจากงบประมาณสนับสนุนของรัฐ หรือเงินบริจาคของภาคเอกชน และพระสงฆ์คือที่รวมจิตใจของประชาชน เป็นที่เสริมทางคุณธรรมจริยธรรม เพราะความรู้จะต้องคู่กับคุณธรรม หากมีความรู้แต่ไร้ซึ่งคุณธรรมก็จะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ควรมีการสนับสนุนและเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยและความถูกต้อง ๓) ผู้มีอำนาจควรมองถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ อุทิศตนทุ่มเทให้กับการพัฒนา กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง การดำเนินการพัฒนาก็จะเกิดผลสัมฤทธิ์ และการพัฒนาจะต้องดูองค์รวมทั้งหมดว่าจะทำอย่างไรให้มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้า นั่นคือบุคลากรจะต้องมีความเชี่ยวชาญ มีประสิทธิภาพ มีองค์ความรู้ และก็สามารถนำความรู้ความสามารถที่ได้รับการฝึกฝนต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง หน่วยงาน เศรษฐกิจ สังคม และ ประเทศชาติ
ดาวน์โหลด
|