วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการเล่นการพนันหวยในชุมชน และเพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการแก้ปัญหาพฤติกรรมการเล่นการพนันหวยในชุมชนจากการวิจัยพบว่า สาเหตุของพฤติกรรมการเล่นการพนันหวยในชุมชนชานเมือง มี ๗ สาเหตุใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ ๑. ตัวผู้เล่นเอง สาเหตุใหญ่ใกล้ตัวมากที่สุดคือตัวของผู้เล่นเอง เพราะมนุษย์มีความโลภเป็นมูลเหตุ ในทางพระพุทธศาสนาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “โลภจิต” ๒. สลากกินแบ่งรัฐบาล การออกสลากเป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมความโลภที่มีอยู่แล้วให้เจริญมากขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความอยากได้ อยากมี อยากรวย จึงทำให้มีพฤติกรรมการเล่นการพนันหวยเกิดขึ้น ทั้งหวยรัฐและหวยใต้ดิน๓. สื่อสารมวลชน ปัจจุบันการสื่อสารที่ทันสมัยได้เผยแพร่ผลการออกสลากรางวัลในแต่ละงวด และมีผู้โชคดีจากการซื้อสลากหรือหวยรัฐ ได้ร่ำรวยทางลัด จึงเป็นสิ่งกระตุ้นให้มีพฤติกรรมการเล่นการพนันหวย ๔. ความยากจน ประชาชนมีรายได้น้อยแต่รายจ่ายมาก คนยากจนอยากจะร่ำรวยและเห็นว่าการเล่นการพนันหวยเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ตนร่ำรวยได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงเป็นเหตุให้มีพฤติกรรมเล่นการพนันหวย ๕. ด้านการศึกษา การจัดการศึกษาไม่สามารถสอนให้คนเชื่อด้วยเหตุผลและไม่เห็นโทษของการเล่นการพนันหวยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาหรือปฐมวัยได้ คนที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือการศึกษาต่ำจึงมีความเชื่องมงายหมกมุ่นเล่นการพนันหวย ๖. ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ว่าจะทำให้ตนมีโชคลาภได้ โดยไม่ต้องทำงานหนัก และเป็นการลงทุนน้อยแต่ได้กำไรมาก ๗. ขาดจิตสำนึกที่ดีของความเป็นชาวพุทธ เพราะชาวพุทธเราส่วนหนึ่งนั้นมัก จะถือว่า การเล่นการพนันหวยไม่ใช่เรื่องเสียหาย คิดว่าเป็นความสนุกสนานและได้เงินโดยไม่คำนึงว่าตนเองได้ประพฤติผิดศีลธรรมและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่คนอื่น ปัญหาของการเล่นการพนันหวย ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัวและต่อชุมชนชานเมือง ผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านเสียหายสามารถสรุปได้เป็น ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) ความเสียหายด้านสุขภาพกายและจิตใจของตัวผู้เล่นการพนันหวยเอง (๒) ความเสียหายทางด้านฐานะการเงินและความสัมพันธ์ที่ไม่ดีของครอบครัว (๓) ขาดความเชื่อถือและนับถือที่มีต่อสมาชิกในชุมชนชานเมือง (๔) ขาดความมั่นใจในความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของคนที่มาอยู่อาศัยในชุมชนชานเมือง ในการแก้ปัญหา เกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นการพนันหวยในชุมชนชานเมือง พบว่า ชุมชนชานเมืองได้พยายามหาหลักการที่ดีมาพัฒนาชุมชนและได้มีการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในบางส่วน เพื่อเป็นการป้องกันและช่วยพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยหลักพุทธธรรมบางประการที่เห็นว่าเหมาะสม ได้แก่ (๑) หลักการปกครองชุมชน (๒) หลักสร้างความสามัคคี (๓)หลักบริหารจัดการทรัพย์ (๔) หลักการแสวงหาทรัพย์ (๕) หลักสร้างและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง (๖) หลักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน (๗) การส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกในชุมชน ให้มีรายได้เสริมตลอดปี Download : 254940.pdf