การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์จะตรวจชำระและศึกษาคัมภีร์มธุรสวาหินี ภาค ๑ (ชมพูทวีป) ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระเถระชาวสีหฬได้รจนาไว้ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ นับได้ว่าเป็นคัมภีร์ที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญอีกคัมภีร์หนึ่ง ในประเทศไทยคัมภีร์นี้เริ่มปรากฏในสมัยอยุธยาเป็นต้นมา ในการวิจัยนี้ มุ่งที่จะตรวจชำระและศึกษาคัมภีร์มธุรสวาหินี ภาค ๑ (ชมพูทวีป) ฉบับรองทรง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฉบับข้างลาย ไม้ประกับประดับเกล็ดหอย และฉบับอื่นๆ อีก ๖ ฉบับ
เนื้อหาของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้แบ่งออกเป็น ๔ บท
บทแรกเป็นบทนำ กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
บทที่ ๒ กล่าวถึงความหมายของคำว่า มธุรสวาหินี ประวัติความเป็นมาของคัมภีร์มธุรสวาหินี พร้อมทั้งประวัติของผู้รจนา ต้นฉบับตัวเขียนที่ใช้ในการตรวจชำระและศึกษา สำนวนภาษา หลักธรรมและความเชื่อ
บทที่ ๓ คัมภีร์มธุรสวาหินี ภาค ๑ (ชมพูทวีป) ที่ตรวจชำระแล้ว บทที่ ๔ บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ผลของการวิจัยพบว่าลักษณะการนำเสนอเนื้อหาในคัมภีร์มธุรสวาหินี ภาค ๑ (ชมพูทวีป) มีวิวัฒนาการของการประพันธ์มาจากธัมมปทัฏฐกถา มีเนื้อหาในรูปแบบนิทาน มีคาถาประกอบเนื้อเรื่อง แต่ไม่มีอรรถกถาแก้ สำนวนภาษาบาลีที่ใช้ มีรูปแบบการใช้สำนวนภาษาที่คล้ายกับธัมมปทัฏฐกถา เล่าเรื่องนิทานปรัมปราของชาวชมพูทวีป นำเสนอในรูปของการปลุกใจให้คนมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และประกอบกุศลกรรมยิ่งขึ้นๆ ไปคัมภีร์มธุรสวาหินีนี้จึงจัดได้ว่าเป็นวรรณคดีภาษาบาลีประเภทนิทานที่มีความสำคัญเล่มหนึ่งในวรรณกรรมภาษาบาลี.
Download : 254939.pdf |