บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามการบริหารของเทศบาลตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ๒) เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามการบริหารของเทศบาลตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามการบริหารของเทศบาลตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลป่าตุ้ม จำนวน ๓๗๒ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมาน คือการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) ด้วยสถิติทดสอบค่าที (t-test) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม และการทดสอบค่าเอฟ(F-test) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสามกลุ่มขึ้นไป และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD.) และการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการสัมภาษณ์จำนวน ๗ คน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามการบริหารของเทศบาลตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง (= ๒.๗๖) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ด้านมีบ้านอาศัย ด้านฝักใฝ่การศึกษา ด้านรายได้ก้าวหน้า และด้านปลูกฝังค่านิยมไทย และพบว่า อยู่ในระดับน้อย ได้แก่ ด้านมีสุขภาพดี
๒. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามการบริหารของเทศบาลตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ เมื่อจำแนกตาม อายุระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน และตำแหน่งหน้าที่ และไม่แตกต่างกันเมื่อจำแนกตามเพศ สถานภาพสมรส
๓. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามการบริหารของเทศบาลตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ด้านสุขภาพดี ควรส่งเสริมให้ชุมชนได้เช้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพโดยการจัดกิจกรรม เช่น กีฬาสี จัดหาสถานที่ออกกำลังกายประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและเห็นความสำคัญของสุขภาพ และจัดสาธารณูปโภคให้บ้านให้ถูกสุขลักษณะ ด้านมีบ้านอาศัย ทุกหลังคาเรือนควรมีการดูแลห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัว ใช้อย่างถูกสุขลักษณะด้านฝักใฝ่การศึกษา ควรส่งเสริมให้มีห้องสมุดประจำหมู่บ้านเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ด้านรายได้ก้าวหน้า ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อนำเงินจัดสรรให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ และผู้ประสบภัยต่างๆและด้านปลูกฝังค่านิยมไทย ควรสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทางผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ผู้แก่ได้ปฏิบัติทำร่วมกันมา เช่น งานฝีมือ งานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ด้านสมุนไพร ด้านอาหาร ด้านภาษา ด้านการละเล่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเรียนรู้
ดาวน์โหลด
|