บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารงานสวัสดิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้สูงอายุต่อการบริหารงานสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จำแนกตาม เพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษาและรายได้ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะการบริหารงานสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ๔) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารงานสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยวิจัยแบบผสานวิธี ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จำนวน ๑,๐๗๑ คน ทำการหาขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของ ทาโร่ ยามาเน่ ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น ๒๙๑ คน ทำการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการอธิบายลักษณะข้อมูลทั่วไปและทำการทดสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบค่าทีและค่าเอฟ ด้วยการวิเคราะห์ ความแปรปรวนแบบทางเดียว เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการ หาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด ในส่วนของข้อคำถามปลายเปิดที่แสดงปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแบบสอบถามปลายเปิด จากนั้นจะทำการวิเคราะห์ โดยใช้การแจกแจงความถี่และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้วิจัยจะทำการจัดกลุ่มข้อมูลตามสาระสำคัญของประเด็นการสัมภาษณ์ จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความคิดเห็นของผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อการบริหาร งานสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๔.๐๑ , S.D. = ๐.๑๐๙)
๒. ระดับความคิดเห็นผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อการบริหารงานสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ด้วยการทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างตามการจำแนกปัจจัย ส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษาและรายได้ พบว่า ปัจจัยด้านเพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษาและรายได้ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะการบริหารงานสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ สรุปได้ คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ผู้สูงอายุไม่สามารถเดินทางมาติดต่อขอรับบริการได้ด้วยตนเอง ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการอ่านและเขียนทำให้ไม่เข้าใจแบบฟอร์มหรือเอกสาร ควรเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้มากขึ้น ตั้งจุดให้บริการรับเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ให้คำแนะนำและอธิบายรายละเอียดแก่ผู้สูงอายุในการกรอกแบบฟอร์ม เอกสารต่างๆ
๔. แนวทางการบริหารงานสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ส่วนใหญ่เน้นในเรื่องการนำหลักสังคหวัตถุ ๔ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่เกื้อหนุนการสงเคราะห์ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเหล่า เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วยการให้การสงเคราะห์ ด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆและปฏิบัติตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของผู้สูงอายุในท้องถิ่น
ดาวน์โหลด |