บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ๒) เพื่อศึกษาการเปรียบเทียบความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะต่อความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นิสิตปริญญาตรีทุกชั้นปีของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ จำนวน ๑๙๗ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ (Frequencies) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการทดสอบสมมติฐาน เพื่อศึกษาการเปรียบเทียบความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล สถิติที่ใช้ คือ การทดสอบค่าที (t-test) ในกรณีตัวแปรต้นสองกลุ่ม และการทดสอบค่าเอฟ (F-Test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) ในกรณีตัวแปรต้น ตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD.) และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๙ ท่าน และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (=3.๔๒) เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านลักษณะสารสนเทศ (= ๓.๖0) ด้านปัญหาในการใช้งาน(= ๓.๔๗) และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ด้านความสามารถในการใช้งาน (= ๓.๑๘)
๒) นิสิตที่มี สาขาวิชา ต่างกันความคิดเห็นต่อกับความพึงพอใจต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมสมมติฐานการวิจัย ส่วนนิสิตที่มี เพศ อายุและ ชั้นปี ต่างกันมีความคิดเห็นต่อกับความพึงพอใจต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓) ปัญหา อุปสรรคของความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ พบว่า จุดให้บริการ WIFI ยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนนิสิต อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนบางชนิดยังล้าสมัย ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จำนวนเครื่องยังไม่ค่อยเพียงพอต่อจำนวนนิสิตและครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์บางเครื่อง มีการใช้งานมาแล้วเกิน ๕ ปี ทำให้สมรรถภาพในการใช้งานลดลง
แนวทางพัฒนาการความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ พบว่า ควรมีการพัฒนาเครือข่าย WIFI ให้กระจายสัญญาณในจุดที่ให้บริการอย่างเพียงพอของนิสิต พัฒนาอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนบางชนิดให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับการเรียนการสอนในปัจจุบัน พัฒนาห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ให้จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงพอต่อจำนวนนิสิตและจัดหาครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ ทดแทนเครื่องที่มีอายุใช้งานเกิน ๕ ปี เพื่อความทันสมัยในปัจจุบัน
ดาวน์โหลด |