หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ปรีชา แสงผาบ
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๑ ครั้ง
การให้บริการประชาชนตามหลักสังคหวัตถุธรรม ของสถานีตำรวจภูธรทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน(รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : ปรีชา แสงผาบ ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๑/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสุนทร สังฆพินิต
  นิกร ยาอินตา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  ๑) เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของประชาชน ที่มีต่อการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของสถานีตำรวจภูธรทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน  ๒) เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจการให้บริการประชาชนตามหลักสังคหวัตถุ ๔  ของสถานีตำรวจภูธร     ทากาศ อำเภอแม่ทาจังหวัดลำพูน ตามทัศนะของประชาชนผู้มาใช้บริการ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล   ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ ต่อการให้บริการประชาชนตามหลักสังคหวัตถุ ๔  ของสถานีตำรวจภูธรทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน  ๔) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ของสถานีตำรวจภูธรทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Methods) โดยมีกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ประชาชนในเขตตำบลทากาศ  อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีจำนวนจำนวน ๔,๒๒๖ คน และกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยการใช้สูตรการคำนวณขนาดของกลุ่มตัวอย่างของยามาเน่ (Yamana) ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 375 คน โดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ (Frequency)  ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ทดสอบสมมติฐานด้วย การทดสอบค่าที (T – test) และการทดสอบค่าเอฟ (F – test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ ความแปรปรวน  ทางเดียว(One Way ANOVA) ในกรณีตัวแปรต้นตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีการ (L.S.D) โดยกำหนดระดับนัยสำคัญ  ทางสถิติที่ ๐.๐๕ และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยจะทำการจัดกลุ่มข้อมูลตามสาระสำคัญของประเด็นการสัมภาษณ์ จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา 

ผลการวิจัยพบว่า

             1. ระดับความคิดเห็นที่มีต่อการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของสถานีตำรวจภูธร   ทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน พบว่าประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับความคิดเห็นในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (= ๓.๓๙)  และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านสมานัตตตา อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านทาน ปิยวาจาและอัตถจริยา อยู่ในระดับปานกลาง

             2. การเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นที่มีต่อการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔        ของสถานีตำรวจภูธรทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน การทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างตามการจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ ความถี่ในการมาใช้บริการ พบว่า ประชาชนที่มีอายุ ระดับการศึกษาและอาชีพต่างกัน มีความคิดเห็นที่มีต่อการให้บริการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ และ ๐ .๐๕  สำหรับเพศและความถี่ในการมาใช้บริการ มีความคิดเห็นที่มีต่อการให้บริการไม่แตกต่างกัน

             3. ปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการตามหลักสังคหวัตถุ ๔   ของสถานีตำรวจภูธรทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน สรุปได้คือ  ๑) ด้านทาน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการประชาสัมพันธ์แนะนำขั้นตอนการให้บริการเท่าที่ควร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควรมีการแนะนำขั้นตอนต่างๆ แก่ประชาชนให้ทราบด้วย  ๒) ด้านปิยวาจา การพูดจาของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่เป็นปิยวาจาเท่าที่ควร ซึ่งเจ้าหน้าที่ควรมีการพูดจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ให้บริการด้วยความเป็นมิตร  ๓) ด้านอัตถจริยา เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการติดต่อประสานงานฝ่ายต่างๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำสถานีมีน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควรปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานีบ้างเพื่อคอยให้บริการประชาชนยามจำเป็น   ๔) ด้านสมานัตตตา การให้บริการยังไม่มีความยืดหยุ่นเท่าใดนัก เพราะอาจต้องปฏิบัติไปตามหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรมีความยืดหยุ่นบ้างในบางกรณี

             4. ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่เน้นในเรื่องของการให้บริการที่สอดคล้องกับหลักสังคหวัตถุ   โดยเฉพาะรูปแบบการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีการพูดจาที่ไพเราะ การช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความประทับใจแก่ประชาชนผู้มาใช้บริการ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕