บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และเพื่อศึกษาปัญหา แนวทางแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๗,๕๔๑ คน และประชาชนที่ไปสัมภาษณ์ ผู้วิจัยได้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยในเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และเชิงคุณภาพโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการแจกแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ โดยได้ทำการสุ่มตัวอย่างการวิจัยในเชิงปริมาณได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๘๐ คน และสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน ๑๑ ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t–test และ F – test ถ้าพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จะทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีการของ LSD (Least-Significant Different) นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบตารางประกอบการบรรยาย
ผลการวิจัยพบว่า
๑) การมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่โดยรวมทั้ง ๓ ด้าน มีค่าแปลผลอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ ด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิต รองลงมาได้แก่ ด้านการพัฒนาทักษะชีวิต และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ด้านการรณรงค์เพื่อปลุกจิตสำนึก และสร้างกระแสนิยม ตามลำดับ
๒) ผลการทดสอบสมมติฐานการวิจัย พบว่า ประชาชนที่มีเพศ และอาชีพแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด แตกต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่ประชาชนที่มี อายุระดับการศึกษาและรายได้ต่อเดือนแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓) ปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหา
๓.๑) ปัญหา พบว่า ระเบียบปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการไม่สอดคล้องหรือไม่ตอบสนองกับความต้องการจากประชาชน ขาดการสนับสนุนในด้านงบประมาณ ขาดการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมร้านเกม และการควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ สุรา
๓.๒) แนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่ ระเบียบปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการควรมีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ควรมีงบประมาณสนับสนุน และกำลังคน ควรจัดอบรมแกนนำเยาวชน ควรมีการเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมร้านเกม และการควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ สุรา
๔) ผลการสัมภาษณ์ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่ได้กล่าวถึงการดำเนินการป้องกันยาเสพติดจะมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐมีหน้าที่โดยตรงต่อการดำเนินงานในขณะภาคประชาชนยังมีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับน้อย เนื่องจากการดำเนินงานมีข้อจำกัด คือชุมชนขาดการสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากภายนอกอย่างเพียงพอ ข้อจำกัดด้านสังคม ได้แก่ เยาวชนรุ่นใหม่ที่ทำงานภายนอกชุมชนและไม่มีเวลาในการร่วมกิจกรรมชุมชนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่มีการเลียนแบบวัฒนธรรมการบริโภคนิยม วัตถุนิยม และให้ความสำคัญกับเงินตรา และสถานการณ์การเมืองท้องถิ่นของชุมชนมีการแบ่งแยกฝักฝ่ายของกลุ่มผู้นำในชุมชน และข้อจำกัดอันเนื่องจากนโยบาย กฎระเบียบ และการปฏิบัติของภาครัฐ ได้แก่ ข้อจำกัดด้านระเบียบกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของผู้นำชุมชนมีไม่เพียงพอที่จะจัดการปัญหาในชุมชนได้ เช่น มีแหล่งอบายมุขที่ดึงดูดให้เยาวชนและคนในชุมชนเข้าไปใช้บริการจนไม่สนใจทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ส่วนสารเสพติดที่แพร่ระบาดส่วนใหญ่คือ แอมแฟตามีน (ยาบ้า) ทางเทศบาลตำบลได้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะแก่เยาวชน โดยประสานความร่วมมือกันกับสถานศึกษาในพื้นที่และหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน แม้จะได้มีการส่งเสริมป้องกันแต่ปัญหายังไม่หมดสิ้นไป
ดาวน์โหลด
|