หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสุชาติ สุชาโต (สมมาตร)
 
เข้าชม : ๒๑๐๕๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมและวิธีการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในลิลิตตะเลงพ่าย(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสุชาติ สุชาโต (สมมาตร) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  นายสนิท ศรีสำแดง
  ผศ.ดร. เสาวณิต วิงวอน
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

                    วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ประวัติความเป็นมา, หลักธรรมและวิธีการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในวรรณคดีเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย โดยมีวิธีการศึกษาค้นคว้า รวบรวมหลักฐานและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัย ทั้งจากพระไตรปิฏก ตำราทางพระพุทธศาสนา วรรณคดีเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย ตำราทางวิชาการและเอกสารต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์และสรุปผลตามหลักฐานที่ปรากฏ


                    ผลของการวิจัยพบว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงประพันธ์ลิลิตตะเลงพ่ายในระยะเวลาที่มีการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ เพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่และกอบกู้เอกราชแก่เมืองไทย ทรงมีกลวิธีประพันธ์ด้วยการกำหนดบทบาทของตัวละครให้มีความโดดเด่นในแต่ละด้านเพิ่มรายละเอียดของเนื้อเรื่องด้วยการแทรกบทนิราศเพิ่มอรรถรสให้วรรณคดีมีชีวิตชีวาและแทรกหลักธรรมตามเหตุการณ์ของเรื่องได้อย่างเหมาะสม
ในส่วนของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในวรรณคดีลิลิตตะเลงพ่ายนั้น มี ๘ ประการ คือ

๑. ทศพิธราชธรรม

๒. จักรวรรดิวัตร

๓. ไตรลักษณ์

๔. มงคล ๓๘

๕. กรรม

๖. ราชสังคหวัตถุ

๗. ราชพละ ๕

๘. ทิศ ๖


                  ในส่วนที่ว่าด้วยการศึกษาถึงวิธีการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ผู้ประพันธ์ได้นำรูปแบบและวิธีการในการประกาศหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง โดยการนำประวัติศาสตร์มาบรรยายได้อย่างมีอรรถรสมีหลักธรรมสอดแทรก ทำให้ผู้อ่านได้รับคติธรรมไปพร้อมกันโดยไม่เกิดความเบื่อหน่าย ลิลิตตะเลงพ่ายจึงเป็นเสมือนแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ผู้รู้สามารถค้นหาอาหารทางความคิดในด้านต่างๆ ได้ทุกด้าน ไม่ว่าจะศึกษาเพื่อทราบถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย วัฒนธรรม วิถีชีวิต หลักธรรม คติธรรม หรือความบันเทิง
ในส่วนคุณค่าของหลักธรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถาบันครอบครัว สถาบันการเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น พบว่าหลักธรรมเหล่านั้นสามารถประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวันได้อย่างดียิ่ง ด้วยเหตุที่ชาวไทยมีความเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจึงทำให้มีวัฒนธรรมประเพณีและคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างแยกกันไม่ได้


                   ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า วรรณคดีไทยเป็นเครื่องบันทึกเรื่องราวในอดีตที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม และวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อน จนกระทั่งเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นเครื่องชี้นำทิศทางสำคัญของสังคมไทยในอนาคตอีกด้วย

 

 

Download : 254934.pdf

 

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕