บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ๒) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของ พระสังฆาธิการในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้วิธีการแจกแบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างที่นำมาใช้ในงานวิจัย คือ พระสงฆ์ในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก จำนวน ๑๒๖ รูป จากจำนวนพระภิกษุ ๑๘๓ รูป โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.894 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที ในกรณีตัวแปรต้นสองกลุ่ม และทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าเอฟ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และนำเสนอเป็นบทความเรียงประกอบตาราง โดยการแจกแจงความถี่ของผู้ตอบคำถามปลายเปิด และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดย การสัมภาษณ์เชิงลึก กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๗ ท่าน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ความคิดเห็นของพระสงฆ์ที่มีต่อประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = ๓.๑๙) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ความคิดเห็นของพระสงฆ์ที่มีต่อประสิทธิภาพการบริหารกิจการ คณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก โดยด้านที่มีประสิทธิภาพ อยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ( = ๓.๔๑) ส่วนรองลงมา ได้แก่ ด้านการเผยแผ่ ( = ๓.๓๘) และด้านที่น้อยที่สุด ได้แก่ ด้านการศาสนศึกษา ( = ๒.๕๙)
๒) การเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระสงฆ์ที่มีต่อประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการ ในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓) ปัญหา อุปสรรคที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก พบว่า ด้านการปกครอง ขาดความเด็ดขาดในการดูแลอย่างทั่วถึงและยังย่อหย่อนในการปกครองเกินไป ด้านการศาสนศึกษา ขาดงบประมาณในการดำเนินงานในเรื่องสนับสนุนการศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ยังขาดบุคลากรที่มีคุณภาพไม่เพียงพอเท่าที่ควร ด้านการเผยแผ่ การจัดอบรมให้แก่พระภิกษุสามเณรและศาสนิกชนทั่วไป ยังค่อนข้างน้อย ด้านการสาธารณูปการ ขาดปัจจัยในการทำนุบำรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ ด้านการสาธารณสงเคราะห์ ขาดการดำเนินกิจการสาธารณสงเคราะห์ด้วยการพัฒนาหมู่บ้าน และชุมชน โดยข้อเสนอแนะ พบว่า ด้านการปกครอง พระภิกษุผู้บวชใหม่ต้องให้ความเคารพพระภิกษุผู้บวชก่อนตามพระธรรมวินัยที่บัญญัติไว้ ด้านการศาสนศึกษา ควรของบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนเรื่องการศึกษาของพระภิกษุและสามเณร ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ควรจัดหางบประมาณการสนับสนุนการศึกษา ด้านการเผยแผ่ ควรให้พระภิกษุสามเณรและศาสนิกชนทั่วไป ได้มีการจัดอบรมธรรมะหรือหลักการปฏิบัติหรือควรจัดให้มีการสนทนาธรรมกันตามสมควร ด้านการสาธารณูปการ ควรดูแลรักษาความสะอาดเสนาสนะ และบริเวณสถานที่ต่างๆ ภายในวัดอยู่เสมอ เพื่อให้วัดมีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้านการสาธารณสงเคราะห์ จัดตั้งกองทุนให้แก่ชาวบ้าน เพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้
ดาวน์โหลด
|