บทคัดย่อ
สารนิพนธ์เรื่องการสังคมสงเคราะห์ในพระไตรปิฎกมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหลักการสังคมสงเคราะห์ในพระไตรปิฎก และเพื่อวิเคราะห์การสังคมสงเคราะห์ในพระไตรปิฎก งานสารนิพนธ์นี้เป็นการศึกษา เชิงคุณภาพ โดยผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎกและเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสังคมสงเคราะห์แล้วรวบรวมการวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า การสังคมสงเคราะห์ในพระไตรปิฎกให้ความสำคัญแก่หลักสังคหวัตถุ ๔ กล่าวคือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยาและสมานัตตตา ทาน คือ การแบ่งปันสิ่งที่ควรให้ เช่น อาหาร เป็นต้น การให้ความรู้เป็นธรรมทาน และการให้อภัยแก่สัตว์และคนอื่นเป็นอภัยทาน ปิยวาจา เป็นการใช้คำพูดจริง พูดถูกกาลเทศะ พูดเป็นประโยชน์ พูดคำสุภาพและพูดด้วยเมตตาจิตต่อผู้ฟัง อัตถจริยา เป็นการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เน้นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าของตนเอง สมานัตตตา เป็นการประพฤติตนอย่างเหมาะสมแก่ฐานะที่ตนดำรงอยู่เป็นอยู่แล้วปฏิบัติหน้าที่สม่ำเสมอเป็นธรรม ยุติธรรม เสมอต้นเสมอปลาย มีลักษณะสมดุลกับบุคคลที่ตนเกี่ยวข้องด้วย
วิเคราะห์การสังคมสงเคราะห์ในพระไตรปิฎกได้ความว่า การสังเคราะห์หมายถึงหลัก สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ คือ ทาน การให้มีทั้งการให้วัตถุสิ่งของเป็นทานและให้ธรรมะเป็นทาน ปิยวาจา เป็นการใช้คำพูดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่น เป็นคำพูดที่ประสานมิตรไมตรีไม่ทำลายน้ำใจโดยตั้งอยู่ในหลักของการพูดจริง พูดถูกกาลเทศะ พูดคำเป็นประโยชน์ พูดคำสุภาพนุ่มนวล เว้นคำเท็จ ส่อเสียด ใส่ร้ายป้ายสีกัน อัตถจริยา ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชนและประเทศ เช่น ไม่ยุ่งเกี่ยวสิ่งเสพติด ให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับทางราชการ และสมานัตตตา ทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย เป็นที่รักใคร่ของบุคคลอื่น ไม่หน้าไหว้หลังหลอก เคยประพฤติเช่นใดก็ควรทำเช่นนั้น เคยร่วมงานทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็คงปฏิบัติอยู่เช่นเดิม เป็นต้น
ดาวน์โหลด
|