วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความหมายลักษณะและประเภทของ
ผญา แนวคิดในเชิงจริยธรรมที่ปรากฏในผญา และวิเคราะห์แนวคิดผญาเชิงจริยธรรมที่
พระสงฆ์นำไปใช้สอน โดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร คือ คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและฉบับภาษาไทย ตลอดทั้งเอกสารตำราวิชาการ ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากภาคสนามโดยการศึกษาใน ๒ จังหวัด คือ ขอนแก่น และอุดรธานี ซึ่งวิจัยนี้รวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ จากนั้น จึงนำข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวคิดเชิงจริยธรรมในผญาที่ปรากฏในเอกสารข้างต้น ที่พระสงฆ์นำไปใช้สอนมาวิเคราะห์หาข้อสรุป และข้อเสนอแนะ
ผลจากการวิจัย พบว่า
ในการแสดงธรรมของพระสงฆ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาล มาจนถึงปัจจุบัน ได้อาศัยเทคนิคและวิธีการต่างๆ เพื่อให้การแสดงธรรมนั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังธรรมมากที่สุด แม้พระสงฆ์ในเขตจังหวัดขอนแก่นและ จังหวัดอุดรธานี ก็ได้อาศัยการนำบทผญา เพื่อนำไปปรับใช้สั่งสอนพุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้ว มีแนวคิดในเชิงจริยธรรมที่ปรากฏอยู่ในบทผญา คือ
(๑) สอนเรื่องการบริโภคปัจจัย ๔ อย่างรู้จักพอประมาณ และสันโดษ
(๒) สอนเรื่องการวางท่าทีต่อความทุกข์ และวิธีปฏิบัติตนให้มีความสุข
(๓) สอนเรื่องการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม
(๔) สอนเรื่องการ
ปฏิบัติต่อบุคคล
(๕) สอนเรื่องศิลปะในการทำงาน
(๖) สอนเรื่องความไม่ประมาทและโทษความประมาท
(๗) สอนเรื่องบุญ-บาป
(๘) สอนเรื่องการคบหาเพื่อนที่ดี
(๙) สอนเรื่องปัญญา
(๑๐) สอนเรื่องการศึกษาหรือการแสวงหาความรู้
(๑๑) สอนเรื่องทั่วๆ ไป
บทผญาที่พระสงฆ์นำไปใช้สอน มี ๒ ประเภท คือ ผญาภาษิต และผญาปริศนา ผญาภาษิตมุ่งสอนจริยธรรมแก่ผู้ฟังทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ส่วนผญาปริศนา มุ่งสอนจริยธรรมที่แฝงด้วยหลักพุทธธรรมก็มี ด้วยหลักปรัชญาระดับชาวบ้านก็มี
นอกจากนั้น จากการวิจัย ยังพบว่า แนวคิดที่พระสงฆ์ได้นำบทผญาไปประยุกต์สอนพุทธศาสนิกชนนั้น เนื่องจาก เห็นว่ามีความจำเป็นในด้านจิตวิทยา เพราะผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้ฟังธรรมในจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานีส่วนใหญ่ ยังคงให้ความนิยมการฟังเทศน์แบบผสมบทผญา บางทีก็มีบทกลอนแทรกก็มี ฉะนั้น พระสงฆ์ผู้แสดงธรรมจึงต้องประยุกต์การแสดงธรรมให้เหมาะสมต่อกลุ่มผู้ฟัง และเห็นว่าได้ผลดีกว่าการแสดงธรรมที่ขาดบทผญา ส่วนแนวคิดของกลุ่มผู้ฟังนั้น เห็นว่า การที่พระสงฆ์ได้นำบทผญาไปแสดงแทรกกับหลักพุทธธรรม ย่อมเกื้อกูลประโยชน์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเป็นการเพิ่มความรู้ ข้อคิดในการแก้ปัญหาด้านสังคมของตนให้มีการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข อีกทั้งสอนให้รู้จักการวางตน การทำงาน การสั่งสอนบุตรหลาน ประเพณีที่ดีงาม และเพื่อสืบต่อวัฒนธรรมของอีสานให้ดำรงต่อ เนื่องจากปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่เริ่มหันหลังให้กับการแสดงธรรม และไม่เข้าใจความหมายของคำผญาที่พระสงฆ์นำไปแสดง จึงทำให้ความหมายเชิงจริยธรรมที่อยู่ในบทผญาถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
Download : 254931.pdf |