หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ชาตรี ทองภักดี
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๔ ครั้ง
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔ ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน(สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : ชาตรี ทองภักดี ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ศรีธน นันตาลิต
  บุศรา โพธิสุข
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔ ของตำรวจภูธร   จังหวัดลำพูน” มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔     ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของตำรวจที่มีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔ ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔ ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ๔) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้หลักภาวนา ๔ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Methods) โดยใช้ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย จากข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร และข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ของสถานีตำรวจภูธรบ้านธิ จังหวัดลำพูน        และสถานีตำรวจภูธรแม่ทา จังหวัดลำพูน จำนวน ๒๐๕ คน เป็นตัวแทนของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน โดยเปรียบเทียบจำนวนประชากรกับตารางมาตรฐานว่าด้วยขนาดประชากรและขนาดตัวอย่างของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) จำนวน ๑๓๖ ตัวอย่าง  เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม  ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อหาค่าความถี่      ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทำการทดสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบค่าที (t-test) และค่าเอฟ (F-test) ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One way Anova) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการหาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) ในส่วนของข้อคำถามปลายเปิดที่แสดงปัญหาอุปสรรค     และข้อเสนอแนะ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแบบสอบถามปลายเปิด จากนั้น  ทำการวิเคราะห์ โดยใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มข้อมูล (Data Grouping) สาระสำคัญของประเด็นการสัมภาษณ์ จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis Technique)

 

ผลการวิจัยพบว่า

๑) ระดับความคิดเห็นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔ ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๔.๑๘) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ทุกด้านมีระดับความคิดเห็นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔ อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยสูงสุด         ( = ๔.๓๓) ในด้านปัญญาภาวนา ส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุด ( = ๔.๐๒) ในด้านจิตตภาวนา

๒) การเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔ ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ด้วยการทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างตามการจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่งปัจจุบัน ระดับรายได้ต่อเดือน   และอายุราชการ พบว่า มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน

๓) ผลการศึกษาปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔ ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน สรุปได้ว่า ด้านกายภาวนา มีภาระหน้าที่มากทำให้  ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้เหมาะสม      ตามช่วงอายุ วัย ด้านศีลภาวนา ยังขาดระเบียบวินัยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ควรมี   การอบรมบุคลากรให้ประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยอยู่เป็นประจำและปฏิบัติต่อประชาชนโดยยึดตามหลักกฎหมาย ด้านจิตตภาวนา เนื่องจากภารกิจมาก ด้านการเงิน และความเป็นอยู่      ไม่ค่อยดีส่งผลทางด้านจิตใจ ควรมีส่งเสริมให้บุคลากรฝึกฝนด้านจิตใจให้มาก ด้านปัญญาภาวนา    ไม่ใฝ่รู้ ขาดความพร้อมทางด้านสุขภาพ การเงิน ครอบครัว ควรสนับสนุนมีการอบรมฝึกให้เกิด      สติปัญญา มีปฏิภาณไหวพริบในการปฏิบัติหน้าที่ จะได้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

๔) ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา ๔             ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน พบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่เน้นในเรื่องการประพฤติตน            อยู่ในระเบียบวินัย ข้อบังคับ หลักกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการให้บริการแก่ประชาชน      และสังคมส่วนรวม การพัฒนาร่างกายเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดีขึ้นปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น        อันจะเกิดผลดีต่อทั้งผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานในภาพรวม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕