บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
เพื่อศึกษาตีรณปริญญาและวิปัสสนาญาณ ๑๖ และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตีรณปริญญากับวิปัสสนาญาณในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
วิปัสสนาภาวนา คือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งในไตรลักษณ์ ตามหลักมหาสติ-ปัฏฐาน โดยการกำหนดรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม หรือโดยย่อได้แก่ การกำหนดรู้รูปนาม อันเป็นผลก่อให้เกิดวิปัสสนาญาณตามลำดับ
ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา เป็นปริญญาต่อเนื่องมาจากญาตปริญญาและส่งผลให้เกิดปหานปริญญา คัมภีร์อรรถกถาปปัญจสูทนี มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ว่า พิจารณา
กลาปะเป็นต้น มีอนุโลมญาณเป็นที่สุด แต่ไม่เด่นชัดนัก ที่เด่นชัดปรากฏโดยทั่วไปคือ กลาปสัมมสน-ญาณ และอุทยัพพยญาณเป็นภูมิของตีรณปริญญา วิปัสสนาญาณ หมายถึงการพิจารณารูปนามเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตั้งแต่การพิจารณาที่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น มีปัจจ-เวกขณญาณเป็นที่สุด
ความสัมพันธ์ระหว่างตีรณปริญญากับวิปัสสนาญาณ ปัญญาพิจารณาเป็นไปในกลาป-สัมมสนญาณ เป็นต้น มีอนุโลมญาณเป็นที่สุด คือ พิจารณาเห็นการเกิดขึ้นและดับไป ทำลายไป
เป็นของน่ากลัว ทำให้ละเสีย แตกสลาย ทำลายไป เต็มไปด้วยทุกข์โทษต่าง ๆ เป็นของน่าเบื่อหน่าย จึงใคร่พ้นไปเสียจากรูปนามเหล่านี้ เมื่อจิตรู้เท่าทันรูปนามอารมณ์ที่ถูกรู้จะดับไป หายไป แต่จิตปราศจากความสะดุ้งกลัวในรูปนาม ปราศจากการเห็นโทษของรูปนาม ปราศจากความเบื่อหน่ายในรูปนาม ปราศจากความหลุดพ้นจากรูปนาม ปราศจากทุกข์ ปราศจากสุข ปราศจากความยินดี ปราศจากความยินร้าย มีเพียงจิตที่เป็นกลางวางเฉยต่อทุก ๆ อารมณ์ และกำหนดรู้ได้ดีเสมอกันจนก้าวเข้าสู่อนุโลมญาณตามลำดับ
ดาวน์โหลด
|