หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระบุญสม ยนฺตสีโล (พึ่งมา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๗ ครั้ง
ศึกษาสภาวะเกิดดับของเวทนาขันธ์ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระบุญสม ยนฺตสีโล (พึ่งมา) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรเวที)
  วิโรจน์ คุ้มครอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๐/มีนาคม/๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเวทนาขันธ์ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาสภาวะเกิดดับของเวทนาขันธ์ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

เวทนาขันธ์ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เวทนาเป็นความรู้สึก ซึ่งอาจจะเป็นความพอใจ (สุขเวทนา) หรือความไม่พอใจ (ทุกขเวทนา) หรือความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขา) เวทนาในสภาวะเสวยอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรูซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู เป็นความรูสึก สุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์ บีบคั้น เจ็บปวด หรือเฉย ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ความรูสึกนี้เกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ โดยขึ้นอยู่กับอารมณ์ คือ สิ่งเร้าที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ หรือกลาง ๆ

การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เป็นการปฏิบัติเพื่อให้ผู้ปฏิบัติรู้แจ้งสัจธรรมหลุดพ้นจากตัณหา อุปาทาน ที่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัว เป็นตน เพราะเหตุแห่งความกำหนัดยินดีติดใจในอารมณ์ ส้องเสพเสวยอารมณ์ของเวทนา ที่เป็น สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ อยู่ร่ำไปเป็นเหตุทำให้วนเวียนอยู่ในวงจรของปฏิจจสมุปบาท ทำให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สภาวะเกิดดับเวทนาขันธ์ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา สภาวะการเกิดดับของเวทนาขึ้นอยู่กับผัสสะ (ความกระทบ) ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อมีการผัสสะกับอารมณ์ เป็นความรู้สึกในรสของอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการผัสสะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด ตัณหา อุปาทาน ก็เพราะเหตุแห่งการเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ ไม่สุข-ไม่ทุกข์ ทั้งที่เป็นกามคุณ (อามิส) และไม่อาศัยกามคุณ (นิรามิส) ที่เกิดขึ้นทางกาย และใจ เมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับไปด้วยซึ่งเป็นไปตามสายปฏิจจสมุปบาทอย่างชัดเจน การเจริญเวทนาในสติปัฏฐาน ก็คือการมุ่งน้อมให้ดูที่กายกับใจของตนเป็นสำคัญ ก็เพื่อจะกำหนดรู้ชัดเวทนาว่า สุขหนอ ทุกข์หนอ หรือเฉย ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นการกำหนดตามอาการที่จิตเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอารมณ์ เรียกว่า กำหนดอารมณ์ปัจจุบัน การตามรู้เวทนาส่งผลให้นักปฏิบัติหยั่งเห็นความเกิดดับของเวทนา คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ย่อมไม่หลงไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งปวง ย่อมเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด ย่อมหลุดพ้นได้ในที่สุด คือ พระนิพพาน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕