บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาสติสัมปชัญญสูตร เพื่อศึกษาวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในสติสัมปชัญญสูตร โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
สติสัมปชัญญสูตร เป็นพระสูตรว่าด้วยผลแห่งสติสัมปชัญญะ เนื้อหาหลักธรรม ประกอบด้วยหลักธรรม ๘ ประการ คือ (๑) สติสัมปชัญญะ (๒) หิริและโอตตัปปะ (๓) อินทรีย์ (๔) ศีล (๕) สัมมาสมาธิ (๖) ยถาภูตญาณทัสสนะ (๗) นิพพิทาและวิราคะ (๘) วิมุตติญาณ-
ทัสสนะ
วิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในแนวสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นทางสายเอกหนทางเดียวที่ทำให้เกิดปัญญา ทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจดพ้นจากทุกข์และสังสารวัฏ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา สติปัฏฐาน ๔ คือ การใช้สติพิจารณากำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้นของกาย เวทนา จิตและธรรม อารมณ์ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ และเมื่อย่อลงก็เหลือเพียงรูปและนาม
แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในสติสัมปชัญญสูตรเริ่มต้นด้วยการเจริญสติสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีหิริและโอตตัปปะนำไปสู่ความสำรวมอินทรีย์ ทำให้ศีลบริสุทธ์ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเกิดยถาภูตญาณทัสสนะ (ความรู้ตามความเป็นจริง) เกิดนิพพิทา (ความเบื่อหน่ายในกองสังขาร) ต่อมาจึงเกิดวิราคะ (ความคลายกำหนัด) และวิมุตติญาณทัสสนะ (ความเห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้ว)
ดาวน์โหลด
|