บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาประวัติการสั่งสมบารมีและการบรรลุธรรมของพระวังคีสเถระ โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
การบรรลุธรรม คือ การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ โดยการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา เจริญสมถ และวิปัสสนา หรือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ด้วยการกำหนดรู้ กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นการกำหนดรู้ในรูป - นามขันธ์ ๕ ให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงในอารมณ์ปัจจุปัน เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้า ผู้ปฏิบัติสามารถละสังโยชน์ และอนุสัยต่าง ๆ สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
วิธีการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา มี ๒ แบบ ได้แก่ สมถยานิก เป็นการปฏิบัติวิปัสสนาโดยอาศัยสมถะเป็นบาทฐาน ทำฌานให้เกิดขึ้นจนมีวสี ในองค์ของฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ส่วนวิปัสสนายานิก เป็นการปฏิบัติวิปัสสนาล้วน ๆ โดยอาศัยขณิกสมาธิที่มีเฉพาะอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันขณะนั้น ๆ เป็นการเจริญปัญญา เพื่อเข้าไปรู้สภาวะของรูป - นามตามความเป็นจริงจนเกิดวิปัสสนาญาณ โดยอาศัยอารมณ์ของวิปัสสนาเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ โดยการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ สามารถบรรลุถึงซึ่งวิมุตติ เข้าถึงซึ่งความบริสุทธิ์ คือ พระนิพพาน
พระวังคีสเถระ มีบารมีที่ได้สั่งสมมายาวนาน เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน มีพุทธบัญชาตั้งสาวก ผู้ฉลาด ยกให้เป็นผู้ประเสริฐล้ำเลิศในด้าน ปฏิภาณ ท่านจึงน้อมนึกหมายได้ตำแหน่งนั้น พระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงรับรองต้องสมประสงค์ ท่านจึงเริ่มกระทำกองการกุศลตลอดชีพหลังจากละกายจากมนุษย์จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนมาถึงชาติสุดท้ายท่านมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ ได้ศึกษาวิชาไตรเพท และมีความรู้พิเศษใน “ฉวสีสมนต์” ต่อมาท่านบวชในพุทธศาสนาแล้วพิจารณาการเปลี่ยนแปลง อาการ ๓๒ ในกายคตาสติ และการละกามคุณ ๕ จนเห็นความ เกิดดับ ในรูป - นามเกิดความรู้แจ้งด้วยวิปัสสนาญาณ บรรลุพระอรหันต์เป็นผู้เลิศในทาง “ปฏิภาณ”
ดาวน์โหลด
|