บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและเทคนิคการสอบอารมณ์พระวิปัสสนาจารย์ไทย โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
รูปแบบการสอบอารมณ์ ในสายกัมมัฏฐานในการบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ มีต้นแบบจาก วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ โดยมีพระธรรมธีราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) ถือว่าเป็น พระวิปัสสนาจารย์องค์แรกของไทย ในรูปแบบการสอบอารมณ์ การสังเกตสภาวะที่ยุติ จากอาการพอง อาการยุบ โดยการพิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เมื่อสติเกิดขึ้น จิตที่รับรู้ในอาการพอง อาการยุบ ทำให้เกิดเป็นศีล จิตที่ตั้งมั่น ในอาการพอง อาการยุบ ทำให้เกิดเป็นสมาธิ จิตที่รู้สภาพธรรม เป็นปัญญา โดยหลักการสังเกตใน อาการพองอาการยุบ จิตที่คอยระมัดระวังเป็นศีล จิตที่แนบแน่นอยู่กับอาการพองยุบ เป็นสมาธิ จิตที่เข้าไปรู้ในอาการพองหรือยุบ เป็นปัญญา ที่มีอยู่ในกรอบสติปัฏฐาน ๔ เพื่อวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติ นำไปสู่ปัญญา หลักฐานยืนยันอยู่ใน มหาสติปัฏฐานสูตร
ส่วนในเทคนิคการสอบอารมณ์ เป็นการปรับอินทรีย์ ๕ ที่เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ มีการเพิ่มเทคนิคให้ตามความเหมาะสม การอบรมอินทรีย์ เมื่อมีความศรัทธาทำให้เกิดความเพียร ความเพียรช่วยให้สติมั่นคง เมื่อสติมั่นคงแล้ว การกำหนดอารมณ์จะได้สมาธิ เมื่อมีสมาธิ ที่สมบูรณ์แล้วก็จะเกิดปัญญา เทคนิคในการปรับอินทรีย์ให้สมดุลเสมอกัน และมีการปรับเป็นคู่ ๆ คือ ปรับศรัทธาให้เสมอปัญญา วิริยะให้เสมอกับสมาธิ ส่วนสตินั้นเป็นตัวกลางประสานได้ทุกธรรม พระวิปัสสนาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญจะมีเทคนิคในการสอบอารมณ์ และการปรับแต่งอินทรีย์ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้ผู้ปฏิบัติหลงทาง
ดาวน์โหลด
|