บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาวธรรมปัจจุบันขณะในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และ ๓) เพื่อศึกษาปัญญารู้แจ้งสภาวธรรมปัจจุบันขณะในการเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยเป็นการวิจัยเชิงเอกสารที่มุ่งศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา คัมภีร์และตำราต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปวิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ผลการศึกษาพบว่า
สภาวธรรมปัจจุบันขณะ คือสภาวธรรมที่เป็นปัจจุบันของรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นเฉพาะหน้า สภาวธรรมทั้ง ๕ เหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์ ย่อลงแล้วคือ รูปและนาม คำว่า ปัจจุบันขณะ มีความหมายได้ ๒ นัย คือ ความหมายแห่งกาลเวลา หมายถึง เวลาขณะนี้ กำลังเป็นไปอยู่ เวลาในระหว่างอดีตและอนาคต ส่วนอีกนัย หมายถึง ปัจจุบันอารมณ์ของรูปนามที่กำลังเป็นไปอยู่ ที่ปรากฏอยู่ แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ๑) ปัจจุบันโดยขณะ ๒) ปัจจุบันโดยสันตติ และ ๓) อัทธาปัจจุบัน โดยปัจจุบันในแต่ละประเภทมีระยะการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของสภาวธรรมแตกต่างกัน การกำหนดรู้สภาวธรรมอย่างเท่าทันปัจจุบันโดยสันตติที่นับเนื่องด้วยกระแสรูป ๑-๒ วิถีจิต (ปัญจทวารวิถี) และกระแสนาม ๒-๓ วิถีจิต (มโนทวารวิถี) มีความสำคัญยิ่งเพราะในช่วงนี้จิตเพียงแต่รับรู้อารมณ์ในระดับปรมัตถ์เท่านั้น และทำให้รู้เห็นเท่าทันความเกิดดับของสภาวธรรมได้ชัดเจน อีกทั้งเป็นการตัดต้นทางกิเลสไม่มาต่อเข้ากับเวทนา สัญญา และสังขาร
การเจริญวิปัสสนาภาวนามี ๔ แบบ ได้แก่ ๑) สมถปุพพังคมวิปัสสนาภาวนา ๒) วิปัสสนาปุพพังคมสมถภาวนา ๓) สมถวิปัสสนายุคนัทธภาวนา และ ๔) ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส ในการศึกษาครั้งนี้มีความสอดคล้องตามวิธีปฏิบัติแบบวิปัสสนาปุพพังคมสมถภาวนา คือการเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น โดยการเจริญวิปัสสนาขณิกสมาธิ เมื่อเจริญได้จนจิตไม่ซัดส่ายและแนบอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันที่กำหนดรู้อยู่ สงบจากนิวรณ์ และมีกำลังเทียบเท่ากับอุปจารสมาธิแล้ว จึงกำหนดรู้รูปนามตามลำดับของโลกียปริญญา ๓
ปัญญารู้แจ้งสภาวธรรมปัจจุบันขณะในการเจริญวิปัสสนาภาวนาจะเกิดขึ้นหลังจากการกำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันขณะด้วยโลกียปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ก่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ ถึงญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณ, ตีรณปริญญา ก่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ ถึงญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ, และปหานปริญญา ก่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งญาณที่ ๕ ภังคญาณ ถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ
ดาวน์โหลด
|