บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาอารมณ์ปรมัตถ์ของการวิปัสสนาภาวนา และเพื่อศึกษาการกำหนดอารมณ์ปรมัตถ์ของผู้เจริญวิปัสสนาแบบวิปัสสนายานิก โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
การเจริญวิปัสสนาภาวนา หมายถึงการพัฒนาปัญญาที่ถูกต้องเกิดจากการกำหนดรู้พิจารณาสังขารธรรมโดยความเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยความเป็นเหตุปัจจัยของสภาวธรรมทั้งหลาย ผู้เจริญวิปัสสนาจะสามารถมองเห็นนามรูป เกิดดับเมื่อมีสติและสมาธิให้มีกำลังแก่กล้าจะสามารถเห็นความดับของอารมณ์ที่กำหนดรู้อยู่ วิปัสสนาญาณที่เกิดจากการกำหนดรู้การเกิดดับของนามรูปก็จะสามารถมองเห็นสามัญญลักษณะ ซึ่งจะสามารถหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสได้
อารมณ์ปรมัตถ์ คือการรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเช่น ภาชนะวัตถุซึ่งมีชื่อต่าง ๆ เป็นรูปธรรม เมื่อแยกธาตุแล้วจะได้เป็นธาตุดิน น้ำ เป็นต้น ธาตุมี ๒๘ ธาตุที่ประชุมกันเรียกว่า รูป คือ การรู้ การเห็น เป็นต้นซึ่งเกี่ยวข้องกับจิต จัดเป็นนาม การรู้เห็นสรรพสังขารทั้งหลายคือ รูปและนามซึ่งมีความดับของจิตทุกขณะ คือการรูปสภาพสามัญในธรรมชาติที่แท้จริงของสังขารทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ความรู้พิเศษใด ๆ แต่นำไปสู่การรู้อารมณ์ปรมัตถ์นั่นเอง
การกำหนดรู้อารมณ์ปรมัตถ์ คือ การปฏิบัติวิปัสสนามีรูปนามเป็นปัจจุบันอารมณ์ การกำหนดรู้นำไปสู่การปฏิบัติสมาธิ มีสติต่อเนื่องจนเกิดเอกัคคตาจิตเพื่อรู้ความเป็นจริงอย่างที่มันปรากฏ นั้นคือ ไตรลักษณ์, การเจริญวิปัสสนาโดยการกำหนดรู้อารมณ์ปรมัตถ์ของสังขารทั้งหลายจนเกิดญาณแก่กล้าจะบรรเทากิเลสหรือละสังโยชน์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับกำลังของสติและปัญญา วิปัสสนาญาณจะทำลายสังโยชน์เป็นขณะ เรียกว่า ตทังคปหาน เมื่อปฏิบัติเห็นจริงตามอริยสัจ ๔ ย่อมปรากฏผลของการปฏิบัติคือรู้แจ้งในอริยสัจ จึงเป็นการบรรลุมรรคผลที่สามารถดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง
ดาวน์โหลด
|