บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยตามแนวทางพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยตามหลักภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบวิธีการดูแลผู้ป่วยตามแนวทางพระพุทธศาสนากับภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย โดยได้ศึกษาจากเอกสารปฐมภูมิ ได้แก่ คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย อรรถกถา และจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลโดยลำดับ
ผลจากการวิจัยพบว่า
ความเจ็บป่วยหรือโรคมี ๒ ประเภท คือโรคทางกายและโรคทางใจ โรคทางกายได้แก่ โรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น โรคปวดศีรษะ โรคเจ็บตา โรคหิด โรคทางกายนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและความไม่สมดุลของธาตุ เป็นต้น ส่วนโรคทางใจเกิดจากการที่จิตใจถูกครอบงำด้วยอุปกิเลสอาสวะ คือความโลภความโกรธและความหลง และความเจ็บป่วยที่มีในกาย สามารถทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ ในพระพุทธศาสนามีหลักในการดูแลรักษาโรคที่เกิดจากการเจ็บป่วย ๒ แนวทางด้วยกัน คือการดูแลรักษาด้วยยาสมุนไพรและการดูแลรักษาด้วยธรรมโอสถ
แนวทางแรก สมุนไพรที่ใช้ในการดูแลรักษาโรคของภิกษุนอกจากใช้เภสัชทั้ง ๕ แล้วยังมีพืชต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกอีกมากมาย เช่น รากไม้ ใบไม้ ผลไม้ ยางไม้ น้ำฝาด เกลือ มูลโค เป็นต้น ส่วนแนวทางที่สอง การดูแลรักษาโรคทางใจนั้นนอกจากรักษาด้วยโพชฌงค์ ๗ และสัญญา ๑๐ ควบคู่กับการทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบแล้วยังมีการแสดงธรรม และสนทนาธรรม เพื่อระงับความทุกข์ที่เกิดจากการเจ็บป่วย ต่าง ๆ ด้วยการฝึกจิตให้สงบได้เป็นอย่างดี
ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยเป็นองค์ความรู้ ความสามารถที่สอดรับกับบริบทวัฒนธรรม ที่เกื้อหนุนในการนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน อันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านกระบวนการสืบทอด พัฒนา ปรับปรุงและเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดีและยังสามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพ ในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การบำบัดรักษา และฟื้นฟูสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม โดยใช้หลักธรรมานามัย ๓ ประการ คือ กายานามัย จิตตานามัย และชีวิตานามัย การส่งเสริมสุขภาพด้วยหลักกายานามัย เป็นการปรับความสมดุลของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกาย โดยการรับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย และใช้สมุนไพร การนวดแผนไทย การอบสมุนไพร การประคบสมุนไพร และกายบริหารแบบไทย ๆ ส่วนจิตตานามัย เป็นการทำสมาธิสวดมนต์ และภาวนาเป็นการดูแลรักษาสุขภาพทางใจ และชีวิตานามัยเป็นการดำเนินชีวิตสายกลางมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีอาชีพที่เหมาะสม ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยจึงมีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพของคนไทยโดยรวม
ผู้วิจัยตั้งประเด็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นถึงความเหมือนและความต่างกัน โดย ๑) เปรียบเทียบทรรศนะ ๒) เปรียบเทียบความหมาย ๓) เปรียบเทียบองค์ประกอบ ๔) เปรียบเทียบ ชื่อโรคและการรักษา ๕) เปรียบเทียบสมุฏฐาน และ๖) เปรียบเทียบการดูแล ส่วนทางด้านบรรเทาโรคด้วย พระธรรมโอสถนั้น ใช้พุทธานุภาพ ด้านทำความสะอาดร่างกาย ด้านการออกกำลังกาย ด้านที่พักอาศัย สิ่งแวดล้อม และด้านสมุนไพร
วิธีการดูแลผู้ป่วยตามแนวทางพระพุทธศาสนากับภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยนั้น ทั้งสองกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเจ็บป่วย และมีแนวคิดในเรื่องการรู้เท่าทันความเจ็บป่วย ซึ่งพุทธวิธีการดูแลรักษา และภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยมีการปรับตัวรับมือเมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้นได้เป็นอย่างดีของแต่ละวิธี
ดาวน์โหลด
|